หลังจากที่มีการแชร์หัวข้อการอบรม “เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เบี่ยงเบน” โดยอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาระบุว่า การเบี่ยงเบนทางเพศมักจะมีผลจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก และเสนอแนะแนวทางป้องกัน โดยการบรรยายจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาในโรงเรียนชายล้วนมากว่า 20 ปี
ซึ่งหลังจากที่มาการแชร์ข้อความนี้ออกไป ก็มีกลุ่มคนส่วนหนึ่ง ทั้งที่เป็นกลุ่ม LGBT และ กลุ่มคนทั่วไปแสดงความคิดเห็นว่า เป็นการอบรมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะการเลี้ยงดู ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ และมีความเห็นว่า ควรจะเน้นในเรื่องของการทำความเข้าใจ และยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขจะดีกว่า
ด้านเพจ Drama Addict เองก็ออกมาโพสต์แสดงความเห็นว่า การเป็นเกย์ คือตัวตนที่บังคับกันไม่ได้ เป็นรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง ทางการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นความผิดปรกติแต่อย่างใด
ด้าน คุณโซบี-รัตน์ธนานันท์ วิเศษยา ผู้ประสานงานฝ่ายบันเทิง และพิธีกร Bright TV กล่าวถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่าการเป็นสาวประเภทสอง ในทางวิทยาศาสตร์คือมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศของตนเอง แต่ในทางจิตวิทยา สาวประเภทสองไม่ได้แปลกกว่าเพศชายหรือหญิง แต่เราคือเป็นเพศที่สาม ซึ่งบางคนเป็นมาโดยกำเนิด บางคนเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ซึ่งสังคมปัจจุบันให้การยอมรับมากขึ้นว่า ไม่ได้มองที่เพศสภาพของเรา แต่มองเรื่องความสามารถ ซึ่งหลาย ๆ วงการให้การยอมรับอย่างมาก เช่น วงการบันเทิง ข่างแต่งหน้า ผู้เขียนบทละคร เป็นต้น
“แม้ว่าการยอมรับจะมีมากขึ้น แต่ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ยังมีอยู่น้อย ซึ่งหากการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ปลูกฝังให้เข้าใจว่าทุกคนคือมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกเหมือนกัน ก็จะสั่งสมการไม่ยอมรับให้เกิดขึ้นตามมา จนทำให้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศกลายเป็นคำที่มีความหมายในเชิงเหยียด ความรู้สึกแบ่งแยกและเหยียดเพศก็จะเกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น ทั้ง ๆ ที่ในโรงเรียน เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยช่วยกิจกรรมและสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน”
คุณโซบี บอกอีกว่า ในสมัยเด็ก ๆ ได้รับผลกระทบจากความไม่เข้าใจของสังคมเช่นกัน นอกจากจะถูกเพื่อนผู้ชายล้อด้วยคำว่า “อีตุ๊ด” “อีกระเทย” ที่ได้ยินทุกวันแล้ว ครอบครัวก็ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น จนผู้ใหญ่ไม่กล้าพาตนเองไปพบกับญาติพี่น้องเพราะอาย เนื่องจากสังคมเห็นว่าการเป็นกระเทยคือสิ่งแปลกและผิดปกติ นอกจากนี้ตัวเองยังถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนชายล้วน เพราะเชื่อว่าจะทำให้กลับมาเป็นผู้ชายได้ แต่กลายเป็นเราต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขัดกับความรู้สึกที่เราเป็น เพราะแม้ว่าเพศสภาพเราจะเป็นชาย แต่ความรู้สึกเราคือผู้หญิง
“สิ่งที่เราทำคือต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้เขาเห็นความสามารถที่เรามีและยอมรับสิ่งที่เราเป็น จนประสบสำเร็จในชีวิต จะเป็นเพศไหนก็ได้ เพียงแค่อย่าสร้างความเดือดร้อนให้สังคม”

และอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึง ก็คือบทความจากกรมสุขภาพจิตที่ตีพิมพ์ในเว็ปไซต์ ที่ระบุว่าการชอบเพศเดียวกันนั้น คือความผิดปกติ ที่เกิดการการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม ซึ่งขัดกับการศึกษาทางวิชาการในปัจจุบัน และยังมีบทความในหัวข้อ เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศอีกด้วย โดยระบุว่า หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมผิดเพศ ควรรีบแก้ไข หรือนำตัวเด็กมาพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งพอไปตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต