กรุงเทพฯ-นนทบุรี นำโด่ง! 10 วันอันตราย ปีใหม่ 2568 วันที่ 5 ของการรณรงค์ ล่าสุด เสียชีวิตทะลุ 215 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 1,354 ราย
วันที่ 1 มกราคม 2568 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 1ม.ค.2568 เปิดเผยว่า ในวันนี้ประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ทำให้เส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด มีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับเมื่อคืนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับรถที่จะเดินทางกลับในวันนี้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการง่วงแล้วขับได้ นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนยังคงเฉลิมฉลองเทศกาลต้อนรับปีใหม่ต่อในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) จึงได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมของด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด จุดบริการ เพื่อรองรับการเดินทางสัญจรของประชาชนในการเดินทางกลับ รวมถึงบริหารจัดการการจราจร ทั้งสายหลักและสายรองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดคับคั่ง อีกทั้งเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายตาม “มาตรการ 10 ข้อหาหลัก” กับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง ทั้งการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 3 1ธ.ค.2567 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31ธ.ค. เกิดอุบัติเหตุ 262 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 245 คน ผู้เสียชีวิต 36 รายสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 42.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.43 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ21.37 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 89.93 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ76.72 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.84 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.92
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 – 01.00 น. เวลา 17.01 – 18.00 น. และเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 8.02 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 18.51 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,781 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,639 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (จังหวัดละ 11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (5 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27 – 31ธ.ค.2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,398 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,354 คน ผู้เสียชีวิต รวม 215 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด
- จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (44 ครั้ง)
- จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (43 คน)
- จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี (จังหวัดละ 10 ราย)