เปิดการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งโบราณ อายุกว่า 29,000 ปี เก่าแก่ที่สุดในไทย เป็นกระดูกเด็กอายุ 6-8 ขวบ ที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน
นายพนมบุตร กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้มีการพบภาพเขียนสิโบราณเป็นครั้งแรกบริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มใหม่ในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ซึ่ง มีอายุอยู่ในสมัยเดียวกับภาพเขียนสีบนเพิงผาฝั่งบึงบัว ปี พ.ศ. 2563 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย
“โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอดเพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใดและดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จำนวน 7 แหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการค้นพบใหม่ เป็นถ้ำภูเขาหินปูน ขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 125 เมตร ปากถ้ำหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ขนาดความกว้างของปากถ้ำประมาณ 9.5 เมตร ภายในถ้ำแบ่งออกได้เป็น 5 คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีต และมี 3 คูหาที่พบภาพเขียนสี” นายพนมบุตร กล่าว
อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ด้านโบราณคดีของประเทศ และเป็นการค้นพบหลักฐานใหม่ของโลก ที่ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 29,000 ปี เทียบได้กับสมัยยุคน้ำแข็ง โดยการขุดค้นครั้งนี้ เป็นความสำเร็จร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในการสำรวจเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย

- งานไม่ใหญ่แน่นะ! ทม.กระบี่ จับรูปปั้นมนุษย์โบราณแปลงโฉม ได้ใจชาวเน็ต
- ช็อกโลก! เด็กชายวัย 5 ขวบ ทำไหโบราณ อายุ 3,500 ปี ตกแตก!?
- ดับฝันนักรบ! หนุ่มคลั่งถือดาบ บุกเข้าโบราณสถาน จ.อยุธยา สุดท้ายโดนรวบ
ตั้งชื่อว่า “ปังปอน”
หลังจากที่ปี 2563 ได้พบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ จึงเริ่มขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ เนื่องจากพื้นดินมีฝุ่นขี้เถ้าไฟ ทำให้พบโบราณวัตถุประเภทขวาน เปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก สันนิษฐานว่ามีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงขุดลึกอีก 2 เมตร จนพบโครงกระดูกมนุษย์ พิจารณาฟันแล้ว คาดว่าเป็นเด็กช่วงอายุ 6-8 ปี จำนวน 1 โครง ยังไม้ระบุเพศ ตั้งชื่อโครงกระดูกนี้ว่า “ปังปอน”
หลังจากส่งไปหาค่าอายุ ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบว่า มีอายุประมาณ 29,000 ปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเทียบกับค่าอายุยุคมนุษย์น้ำแข็งร่วมสมัยในเชิงลึก และจะทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นักธรณีวิทยาและนักถ้ำวิทยา ร่วมทำการศึกษาชั้นดินกับกรมศิลปากร เพื่อหาอายุในเชิงลึก โดยจะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อมีการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว จะพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติต่อไป
