มิติใหม่! คาเฟ่ปลาคาร์พ แห่งแรกในประเทศไทย ก่อนเจอดราม่า หวั่นความสะอาด ล่าสุดกรมอนามัยเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ
จากกรณีคาเฟ่แห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เนรมิตคาเฟ่ให้เป็นบ่อปลาคาร์พขนาดใหญ่ โดยให้ลูกค้าเข้ามานั่งกิมขนม ดื่มน้ำ แช่เท้าในน้ำ โดยมีปลาว่ายอยู่รอบๆ พร้อมกับเคลมว่าเป็นคาเฟ่ปลาแห่งเดียวในประเทศไทย งานนี้หลังที่โพสต์กลายเป็นไวรัล ก็ได้มีชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมมองถึงเรื่องความสะอาด และเป็นห่วงสุขภาพของปลา
โดยต่อมา ทางร้านได้ออกมาชี้แจงเรื่องของความสะอาด โดยบอกว่าตัวของคาเฟ่ปลานั้นมีเครื่องกรองขนาดใหญ่ 3 ตัว ทํางาน 24 ชม. และมีการล้างถังกรองทุกวัน และมีการเปลี่ยนถ่ายนํ้าทุกวัน (นํ้าบางส่วน) พร้อมทั้งมีปั๊มสระว่ายนํ้าและชุดดูดทําความสะอาด ทางร้านมีการดูดสิ่งสกปรกและถูพื้นทุกวัน และมีการวัดค่า PH ทุกวัน เรามีพัดลมดูดอากาศทํางาน 24 ชม. เพื่อระบาย ส่วนระบบไฟฟ้า มีเฉพาะด้านบนและด้านนอกเท่านั้น ส่วนน้องปลามีการสังเกตและมีการให้ยาฆ่าเชื้อ เกลือ ผงปรับ ph โดยมี ฟาร์มปลาคาร์พ เป็นพาร์ตเนอร์คอยซัพพอร์ต

กระบวนการการใช้บริการนั้น
- ถอดรองเท้าในที่เก็บรองเท้า
- ล้างเท้า
- แช่นํ้าด่างทับทิม ฆ่าเชื้อ
- เข้าใช้บริการ
- ออกมาแช่ด่างทับทิม ฆ่าเชื้อ
- ล้างเท้า
- เช็ดเท้า
- ฉีดพ่นแอลกอฮอล์
ขอให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจในความสะอาดและสุขภาพของน้องปลา (นํ้าด่างทับทิม ไม่เป็นอันตรายต่อน้องปลา, ต่อยอดปรับปรุงพัฒนา จากการเปิดครั้งแรกช่วงโควิด)

ล่าสุด วันนี้ (23 พ.ย.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ในเบื้องต้น ขอนำเรียน ว่า ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 หมวดที่ 1 สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ไม่ได้กำหนดสุขลักษณะของพื้นในส่วนของสถานที่สำหรับการรับประทานอาหารไว้ ซึ่งต่างจากพื้นของห้องครัวที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องประกอบกับข้อบัญติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ด้วยว่ามีการกำหนดสุขลักษณะของสถานที่รับประทานอาหารไว้หรือไม่ อย่างไร
พญ.อัมพร กล่าวว่า ต่อมา การประกอบการลักษณะนี้เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการ จะต้องพิจารณาประเด็นความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558 ประเภทกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ใน (2) ซึ่งจะต้องขออนุญาตเป็นกิจการฯ ต่างหาก
“ในเรื่องสุขลักษณะอาจจะไม่มีผิดตรงๆ แต่เรื่องการเลี้ยงสัตว์อาจมีประเด็นการขออนุญาตก่อนการดำเนินการ ซึ่งเป็นอำนาจของท้องถิ่น สำหรับกรณีนี้ กรมอนามัยจะลงติดตามและประสานงานเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ”