พบซาก พะยูนตัวผู้โตเต็มวัยหัวขาด ลอยอืดเหนือน้ำทะเล จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่เร่งเข้าเคลื่อนย้ายซาก ไปชันสูตรหาสาเหตุการตาย
พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugon ซึ่งมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ พะยูนกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) โดยเฉพาะหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดเฟซบุ๊กเพจ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้มีการรายงานระบุว่า “วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ขอรายงานการตรวจสอบซากพะยูนเกยตื้น ซึ่งได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้านบางโรง ว่าพบซากพะยูนเกยตื้น บริเวณในคลองทางเข้าท่าเรือบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงได้ประสานเข้าพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 เพื่อช่วยดำเนินการเคลื่อนย้ายซาก

- เอาจริง! ภูเก็ต งดจัดงานลอยกระทง ลดขยะทางทะเล เสี่ยงทำพยูนตาย
- ไอเดียดี! นศ. มหาลัยอุบลฯ จัดกิจกรรม กระทงข้าวหมาจร แทนลอยแม่น้ำ
จากการตรวจสอบพบพะยูน (Dugong dugon) อยู่ในช่วงโตเต็มวัย เพศผู้ ความยาวลำตัว 223 ซม.ไม่รวมส่วนหัว น้ำหนักประมาณ 250 กก. สภาพซากเน่ามาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ผอม (BCS 2/5) ทำการตรวจร่างกายภายนอกพบรอยจากของมีคมตัดโดยรอบส่วนคอ และส่วนหัวหายไปโดยตัดขาดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก ผิวหนังภายนอกบริเวณด้านหลัง พบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะตามร่างกาย พบรอยแผลถลอกโดยรอบร่างกาย และพบรอยรัดบริเวณครีบข้างด้านขวา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการขนย้ายซากมาผ่าชันสูตร หาสาเหตุการตายต่อไป”