นายแพทย์ อนุ ทองแดง ออกมาถอดบทเรียน กรณี ลูกน้อยวัย 3 ขวบเสียชีวิตหลังจาก ติดเชื้อไวรัสในอากาศ ที่จริงเป็นไวรัสที่มีมานานแล้ว
สืบเนื่องจากกรณีข่าวสุดเศร้าของครอบครัว น้องไดอาน่า หนูน้อยวัย 3 ขวบ ที่จากพ่อแม่ไปด้วยอาการป่วย หลังจากติดเชื้อไวรัสในอากาศ ซึ่งในตอนแรกคุณแม่ของน้องแจ้งว่า น้องมีเพียงไข้ต่ำๆ และไม่มีอาการอะไรเลย จากนั้นเช็ดตัวกินยา หายดีแล้ว แต่จู่ๆกลับมีอาการชักเกรง จึงต้องไปโรงพยาบาลทันที ทีมแพทย์ต้องปั้มหัวใจ ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ แต่ในท้ายที่สุดน้องก็ไม่กลับมา ซึ่งจากที่คุณแม่เล่า คุณแม่ได้กล่าวว่า “หมอให้สาเหตุว่า ติดเชื้อไวรัส ละมันไปที่หัวใจ เลยทำไห้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มันไวมากไม่มีสัญญาณอะไรก่อนหน้าเลย หมอบอกไวรัสอยู่ในอากาศ มันโหดร้ายเกินไปไหม”
ทั้งนี้ จากเรื่องราวดังกล่าวถือเป็นเครื่องเตือนใจของคนเป็นผู้ปกครองว่าอย่าชะล่าใจ หากลูกมีไข้ มีอาการป่วย แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเชื้อไวรัสอันโหดร้ายก็เป็นได้ ขณะที่ทางด้าน นายแพทย์ อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า ขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจ สำหรับเด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ที่เสียชีวิตดังกล่าวนั้น อาจจะมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน เนื่องจากผู้ปกครองที่อยู่ในอาการช็อคเสียใจกับการสูญเสียลูกสาว ความจริงแล้วไวรัสชนิดดังกล่าวมีอยู่ทั่วๆไป หรือที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterrovirus) ซึ่งมีมานานแล้ว เป็นเชื้อไวรัสตัวเก่า ไม่ใช่ตัวใหม่ เชื้อสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ก็จะถูกทำลายไปกับแสงแดด ความร้อน ความแห้ง และสภาพอากาศ
นายแพทย์อนุ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการป่วยก่อนเข้าโรงพยาบาล 2 วัน มีอาการไข้ คลื่นไส้ และต่อมามีชักเกร็ง จากนั้นผู้ปกครองพาเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลจากผลเลือด ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสปกติ ทั่วไปในกลุ่มของ ENTEROVIRUS (เอนเทอโรไวรัส) แต่เชื้อได้ลงสู่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงเฉียบพลันจนเสียชีวิต
โดยทั่วไปแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ครั้งนี้ถือว่าอยู่ในอัตรา 0.01 % ซึ่งที่ผ่านมาใน จ.ชุมพร มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีทั้งหมด 8 ราย ไม่มีใครเสียชีวิต แต่รายนี้เสียชีวิต
นายแพทย์อนุ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมและสังคมทั่วๆ ไปอยู่แล้ว ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอันตรายรุนแรงและเสียชีวิต ถ้าเราป้องกันดูแลตัวเองเช่น กินร้อนช้อนกลาง ทำความสะอาดพื้นผิว ล้างมือบ่อยๆ ก็สามารถป้องกันไวรัสชนิดนี้ได้อยู่แล้ว
“หลังเกิดเหตุนี้ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่น้องไปเรียน และบ้านที่อยู่อาศัยของน้อง เพื่อสอบสวนโรค และให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ และการดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งขอยืนยันว่าไวรัสชนิดนี้ ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่เหมือนที่เข้าใจกันในสื่อออนไลน์ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจ ให้ใช้ชีวิตตามปกติและดูแลสุขภาพปฏิบัติตนเองตามที่หมอแนะนำ”
ENTEROVIRUS (เอนเทอโรไวรัส) มีอาการ 3 โรค ได้แก่
- โรคแผลในคอหอย มีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มพองใสขนาด 1 – 2 มิลลิเมตรบนฐานซึ่งมีสีแดง กระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน โดยมากพบที่บริเวณด้านหน้าของต่อมทอนซิล เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิลและมักเป็นอยู่นาน 4 – 6 วัน หลังเริ่มมีอาการมีรายงานพบว่าอาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมได้ร้อยละ 5 แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
- โรคมือ เท้า ปาก แผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้ม และเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น (ดังรูปที่ 26) ลักษณะตุ่มพองใสอาจอยู่นาน7 – 10 วัน และจะมีผื่นหรือตุ่มพองใส เกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ (ดังรูปที่ 27) และฝ่าเท้า (ดังรูปที่ 28)หรือบริเวณก้น โดยทั่วไปหายได้เอง พบน้อยมากที่ทำให้เสียชีวิตในเด็กทารก
- โรคคออักเสบมีต่อมนํ้าเหลืองโต แผลที่ค่อนข้างแข็ง นูน กระจาย มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองขนาดประมาณ 3 – 6 มิลลิเมตรอยู่บนฐานรอบสีแดง และพบมากบริเวณลิ้นไก่ ด้านหน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง
รายละเอียดของ ENTEROVIRUS (เอนเทอโรไวรัส)
- ระยะฟักตัวของโรค : โดยเฉลี่ย 3 – 5 วัน สำหรับโรคแผลในคอหอยและโรคมือ เท้า ปาก และโรคคออักเสบมีต่อมนํ้าเหลืองโต มีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน
- การวินิจฉัยโรค : สามารถพบเชื้อได้จากตัวอย่างจากป้ายแผล ช่องปาก และอุจจาระ มาเพาะแยกเชื้อ หรือฉีดเพาะเชื้อในลูกหนู (suckling mice) และเนื่องจากเชื้อมีหลายสายพันธุ์ย่อยซึ่งทำให้เกิดอาการคล้ายกัน และไม่มีแอนติเจนที่ใช้ร่วมกัน การตรวจหาทางนํ้าเหลืองจึงต้องกำหนดการส่งตรวจเชื้อเพื่อการวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจงของเชื้อชนิดนั้นๆ
- การรักษา : ไม่มีการรักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ
- การแพร่ติดต่อโรค : จากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อที่ปนเปื้อนในนํ้ามูก นํ้าลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือการไอจามรดกัน แต่ไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อติดต่อผ่านทางแมลง นํ้า อาหารหรือท่อนํ้าทิ้ง
- มาตรการป้องกันโรค : ลดการสัมผัสแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน เช่น การลดความแออัด และการมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี การล้างมือบ่อยๆ และการปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสมํ่าเสมอ
- มาตรการควบคุมการระบาด : กรณีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ต้องรีบแจ้งสถานการณ์ของโรค และลักษณะของโรคให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทราบ เพื่อการเฝ้าระวังการระบาด รวมทั้งควรแยกผู้ป่วยและเด็กที่มีไข้สงสัยติดเชื้อไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ และระมัดระวังการสัมผัสนํ้ามูก นํ้าลาย หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย ถ้าพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน อาจพิจารณาปิดโรงเรียน/สถานศึกษาชั่วคราวเป็นเวลา 5 – 7 วัน เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส ทั้งในบ้านสถานศึกษา สถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าแนะนำให้ทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกปกติก่อนแล้วตามด้วยนํ้ายาฟอกผ้าขาว เช่น คลอร็อกซ์ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยนํ้าสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติและนำไปผึ่งแดด ลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค

ที่มาเพิ่มเติม : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย