เช็กด่วน เพจดังเผย โทรศัพท์แบรนด์จีน แอบติดตั้งแอปฯ เงินกู้นอกระบบมาพร้อมเครื่อง แถมไม่สามารถลบออกได้ หวั่นข้อมูลรั่วไหล
กลายเป็นโพสต์ที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์อย่างหนัก หลังเพจเฟซบุ๊ก คุณลุงไอที ได้ออกมาประกาศเตือนให้ลูกเพจ รีบเช็กโทรศัพท์ตัวเองด่วน หลังตรวจพบความผิดปกติ เพราะโทรศัพท์แบรนด์จีนบางยี่ห้อ แอบติดตั้ง “แอปเงินกู้นอกระบบ” ตอนอัพเดท OS แถมยังส่ง แจ้งเตือนมาเชิญชวนให้กู้เงินอีกด้วย
โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวที่ถูกติดตั้งมา คือ แอปฯ สินเชื่อความสุข และ Fineasy ซึ่งทั้งสองแอปฯ เป็นแอปฯ เงินกู้ แถมยังถูกตั้งให้เข้าถึง กล้อง รายชื่อที่อยู่ในโทรศัพท์ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของเครื่อง ซึ่งสิ่งที่เข้าถึงเหล่านี้อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเช่นถูกนำไปอยู่ในกระบวนการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์


ล่าสุดเรื่องราวไปถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียบร้อยแล้ว โดยทางเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า เช็คด่วน!! ใครใช้มือถือ O.. และ r….e ระบบแอบติดตั้งแอปเงินกู้นอกระบบมาหรือไม่ ชื่อแอปฯ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy‘ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้ โทรศ้พท์ทั้ง 2 แบรนด์ ออกมาชี้แจงโดยด่วน!

โดยทางเพจระบุต่อว่า “หลังมีรายงานจากผู้ใช้หลายรายว่า พบแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน อาทิ แอปฯ ชื่อ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ทโฟน ที่น่ากังวล คือ แอปดังกล่าวไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้!
และยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ การที่แอปฯ ฝังตัวอยู่ในระบบของสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การแอบติดตั้งซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสี่ยงต่อการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การล่วงละเมิดทางการเงิน หรือการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขอเรียกร้องไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจนำไปสู่ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์”