ย้อนระลึก เหตุการณ์ ‘สึนามิ ภูเก็ต’ ครบรอบ 20 ปี โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต กว่า 5,400 ราย เป็นฝันที่ไม่มีวันลืมลง
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยกับเหตุการณ์ สึนามิ ภูเก็ต เมื่อปี 2547 จากแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย สู่คลื่นยักษ์ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหลายพันล้าน สึนามิกระทบฝั่งของ 3 ทวีปรอบมหาสมุทรอินเดีย ซัดร่วม 18 ประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 280,000 คน วันนี้ ไบรท์ ทีวี (BrightTV) จะพามาย้อนรอยเหตุการณ์ ในวันครบรอบ 20 ปี คลื่นยักษ์ สึนามิ ที่เหลือทิ้งไว้เพียงความสูญเสียที่ไม่มีใครลืมลง
ย้อนรอยคลื่นยักษ์ “สึนามิ”
เมื่อเวลาประมาณ 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หรือช่วงเช้าหลังเทศกาลคริสต์มาส หลังจากที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกำลังนอนหลับพักผ่อน ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 9.0 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 580 กิโลเมตร
แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นใต้น้ำ และก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่หรือที่เรียกกัน “สินามิ” (Tsunami) เข้าถล่มชายฝั่งของหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดีย แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดรอยแยกยาวเกือบ 1,300 กม. และคลื่นสึนามิที่แผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง รวมถึง 6 จังหวัดในฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน คือ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล
โดยหลังเกิดแผ่นดิวไหวประมาณ 2 ชั่วโมง น้ำทะเลจากบริเวณชายหาดได้ถอยลดลงไปกว่า 100 เมตร จากนั้นเริ่มมีคลื่นสูงกระทบเข้าฝั่ง และตามมาด้วยคลื่นสูงมากกว่า 10 เมตร ที่พัดถล่มชายฝั่งนานกว่า 20 นาที
เย็นวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตครั้งแรกทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 5,400 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันต่อ ๆ มา ในวันที่ 30 ธันวาคม มีรายงานยอดผู้เสียชีวิต 120,000 คน วันที่ 5 มกราคม 2548 เพิ่มเป็น 146,000 คน และในวันที่ 13 มกราคม 2548 ยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 160,000 คน จนกระทั่งยอดสุดท้ายมากกว่า 220,000 คนทั่วโลก
และ สึนามิในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ท ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท
เหตุการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทย และนำไปสู่การจัดตั้งระบบและวิธีรับมือกับภัยพิบัติทางทะเลรูปแบบนี้ โดยหลังเกิดเหตุการณ์ในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 ตัว เช่นเดียวกับสร้างหอเตือนภัยสึนามิขนาดใหญ่ทั้งหมด 130 แห่ง ใน 6 จังหวัด ที่หากเกิดสึนามิ หอเตือนภัยจะดังขึ้นหลังกดสัญญาณเตือนภัย โดยสื่อสารได้ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และจีน