นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผย วิธีควบคุมช้างป่า เพื่อให้อาศัยร่วมกับคนอย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่ากว่า 4,000 ตัว จากสถิติก่อให้เกิดความเสียหายทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งของประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก รวมถึง ช้างป่าตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายต่อภาคการเกษตรที่เป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ภาพรวมช้างป่าพบมีอัตราการเกิดอยู่ที่ร้อยละ 7 – 8 หากปล่อยไปอีก 10 ปีจะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าหนึ่ง หรือกว่า 8,000 ตัว หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ จึงเร่งพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระดมความคิดและหาแนวทางการแก้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ควบคู่กับเดินหน้ามาตรการของภาครัฐ 6 มาตรการ แก้ปัญหาช้างป่าตามที่คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เพราะเมื่อปริมาณช้างมากขึ้นขอบเขตการเดินหาอาหารของช้างป่าจะขยายมากขึ้นตามมาจนเข้าสู่พื้นที่ภาคการเกษตรของประชาชน
- เปิดคลิประทึก! ช้างตกใจเสียงพลุ วิ่งเตลิดเหยียบคน ควาญก็เอาไม่อยู่
- ทนไม่ไหว! ควาญช้าง คว้าผ้ามาห่ม-จุดกองไฟ ให้ช้างแก่ ดูแลอย่างใกล้ชิด
- เปิดข้อเท็จจริง นทท.สเปน เสียชีวิต หลังถูกช้างใช้งวงผลัก จ.กระบี่
จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหากดำเนินการตามข้อ 1 – 5 ได้ผล จากนั้นต้องควบคุมประชากรช้างป่าให้นิ่งก่อน เพื่อทำการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่อาหาร ทำที่กั้นรั้วและแนวรั้ว ตั้งโครงการอาสาหรือผลักดันช้างโดยเจ้าหน้าที่ ถึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น จึงคิดค้นวัคซีนคุมกำเนิดช้างที่ไม่ใช่การทำหมัน เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลงจะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ สิ่งสำคัญวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วไม่มีอันตราย ด้วยการทดลองใช้กับช้างบ้านและมีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน
ซึ่งแผนจะนำร่องพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ก่อน และจะฉีดให้กับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น โดยวัคซีนไม่มีฤทธิ์ควบคุมฮอร์โมนและสามารถควบคุมได้ 7 ปี เชื่อว่า จะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าและเพิ่มพื้นที่อาหารแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างป่าเพิ่มประชากรอย่างควบคุมไม่ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า นอกจากติดตามการดำเนินการตาม 6 มาตรการแล้ว ยังได้เพิ่มอาสาสมัครและนำเทคโนโลยีมาใช้ ด้วยการบินโดรนตามแนวป่าที่ติดกับแนวพื้นที่ประชาชน เพื่อให้รู้ถึงการเคลื่อนไหวของช้างป่าออกมาจากป่าวันไหนบ้าง เพื่อให้ชุดปฏิบัติการและชุดอาสาเข้าไปผลักดันช้างป่าได้ทันท่วงที
