นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยสำคัญการก้าวไปสู่ “ยุคออนไลน์” อย่างเต็มรูปแบบบนโลกใบนี้
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 นิตยสาร “เปรียว” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2524 ได้ประกาศปิดตัวลง หลังจากนั้นปี 2559 นิตยสาร Candy ได้ปิดตัวลงเดือนมกราคม และตามมาด้วย Volume, Image, Cosmopolitan ส่วนเดือนมิถุนายนที่ช็อกวงการนิตยสารนั่นคือ “สกุลไทย” ที่ประกาศการตีพิมพ์หลังจากอยู่ในแวดวงหนังสือของไทยมาตั้งแต่ปี 2497
เท่านั้นยังไม่พอถัดมาในปี 2560 มีนิตยสารที่อยู่คู่เมืองไทยมาอย่างยาวนานทนพิษบาดเจ็บไม่ไหวประกาศอำลาแผงนั่นคือ “ขวัญเรือน” หลังจากก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2511 และมาตามด้วย “ดิฉัน”, “มาดาม ฟิกาโร่”, “คู่สร้าง คู่สม”

วันนี้ทีมข่าวไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) ลงพื้นที่ไปสำรวจแผงหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ในท้องตลาดย่านลาดพร้าว สถานที่ที่เต็มไปด้วยการจราจรที่คับคั่ง ผู้คนที่มากหน้าหลายคน ทำให้พบว่ายังคงมี “แผงหนังสือ” หลงเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อนที่เดินไปปากซอยหรือตลาดจะเห็นแผงหนังสือเต็มไปหมด
เดินสำรวจแผงย่านตลาดโชคชัย 4 ปัจจุบันคนอ่านซื้ออะไร ?
จากการเดินสำรวจแผงหนังสือต่างๆย่านลาดพร้าว ร้านค้าแผงหนังสือแห่งหนึ่งระบุว่า “ปัจจุบันที่ขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อยู่นั้นเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ส่วนยอดการขายนั้นตกต่ำกว่าเมื่อก่อนมาก ยอดขายบางวันไม่มีเลยหรือบางเดือนนิตยสารออกไม่ถึง 10 เล่ม แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ยังพอขายได้”

“ส่วนนิตยสารคนที่มาซื้อจะเป็นคนที่ชื่นชอบหนังสืออยู่แล้ว เพราะหนังสือแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน แต่ที่ขายคล่องยังเป็นเฉพาะกลุ่ม เช่น แฟชั่นผู้หญิง, ปืน, พระเครื่อง นอกจากนี้ที่ร้านยังเปิดร้านของชำควบคู่กันไปด้วยทำให้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปได้วันต่อวัน”
ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ลุยส่งหนังสือเอง!
หลังจากเดินลุยฝ่าไอแดดและฝุ่นย่านโชคชัย 4 แล้ว เราได้เดินทางต่อไปที่ลาดพร้าวซอย 1 และได้พบกับแผงหนังสืออีก 2-3 แผง แต่ที่น่าตกใจคือเป็นแผงหนังสือที่เล็กมาก จากการกวาดสายตาไปรอบๆยังมีแผงลอตเตอรี่และเป็นร้านขายของชำขนาดย่อมนั่นเอง
เจ้าของแผงหนังสือที่เปิดมายาวนานกว่า 30 ปีบอกเราว่า ที่ขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นั้นเพราะเมื่อก่อนรายได้ดีมาก (ผมถึงกับเลิกซ่อมนาฬิกาเพื่อมาเปิดร้านขายหนังสือ) คนไม่มีอินเตอร์เน็ตเหมือนสมัยนี้ทำให้หนอนหนังสือยอมลงทุนซื้อหนังสือเพื่อเก็บไว้อ่านและดูรูปภาพที่ตนเองชื่นชอบ
“สมัยนี้นิตยสารที่ขายดิบขายดีถ้าหน้าปกเป็นวง BNK48, ดาราชาย-หญิงเกาหลี และณเดชน์-ญาญ่า จะขายดีมากเพราะมีแฟนคลับรอจับจ้องอยู่แล้ว”

“ทุกวันนี้มีคนส่งหนังสือน้อยลงเพราะมันไม่คุ้มค่าน้ำมัน แต่ร้านของพี่อยู่ได้ หนังสือพิมพ์ขายได้ นิตยสารปล่อยได้ เพราะพี่ลงทุนด้วยการไปส่งเองถึงหน้าบ้านของลูกค้าที่สั่งหนังสือกับทางร้านเอาไว้ ยิ่งเมื่อปี 59 “ในหลวง รัชกาลที่ 9″ เสด็จสวรรคต ยอดขายหนังสือพิมพ์พุ่งพรวดกว่า 100 ฉบับต่อวัน ส่วนนิตยสารนั้นประชาชนจองคิวกันจำนวนมากจนไม่พอขาย”
“ทุกวันนี้ร้านของพี่อยู่รอดเพราะมีลูกค้าประจำ ส่วนลูกค้าหน้าใหม่ก็มีบ้าง แต่เมื่อคนที่หน้าร้านเราน้อย เราก็ต้องเดินสายส่งตามหน้าบ้านถึงแม้ยอดการขายจะตกต่ำกว่าเมื่อก่อน แต่ร้านพี่ก็พออยู่ได้เพราะเปิดมานานถ้ารวมกับร้านซ่อมนาฬิกาก็ประมาณ 50 ปี”
ทั้งนี้ ผมขอปิดท้ายว่า หนังสือและนิตยสาร จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่ออยู่กับคนที่รักและคนที่ทะนุถนอมหนังสืออย่างรู้คุณค่า ได้มากกว่าคำว่า กระดาษและตัวอักษร
คุณชายหมึกหมด