ซึมเศร้า เป็นเรื่องของอารมณ์ที่เกิดความรู้สึกซึมหรือเศร้าต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ ซึ่งในคนปกติที่ไม่เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อเกิดความรู้สึกเศร้าขึ้นแล้วและมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใครมาเบี่ยงเบนมันก็สามารถฟื้นตัวจากภาวะนั้นได้
แต่เมื่อเริ่มมีภาวะซึมเศร้าแล้วไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เคยทำให้มีความสุข สนุกสิ่งเหล่านั้นจะไม่สามารถทำให้มีความสุขได้อีก สมาธิไม่ค่อยดี มีความคิดทางลบ ต่อตนเอง ต่อคนอื่น ถ้าเริ่มอาการหนักอาจจะถึงขั้นที่ไม่อยากมีชีวิตต่อ

เด็กซึมเศร้าได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง
ลักษณะอาการซึมเศร้าในเด็กจะมีส่วนที่เหมือนผู้ใหญ่ แต่แตกต่างที่ผู้ใหญ่จะแสดงออกแบบเซื่องซึมไม่อยากพูดคุยกับใคร นอนไม่หลับ หรือหลับยาก แต่กับเด็กหรือวัยรุ่นจะแสดงออกในแนวฉุนเฉียว ก้าวร้าว จิตใจกระวนกระวาย แต่มีบ้างที่มีอาการอยากนอนเยอะ นอนตลอดเวลา ทานอาหารเยอะและน้ำหนักขึ้นมากในช่วงเวลาสั้นๆ
ในเด็กเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าจะต้องใช้เวลานานกว่าจะหาย ซึ่งอาจจะนานถึง1ปี แต่ซึมเศร้าในผู้ใหญ่จะหายเองได้ ซึ่งจากงานศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นโรคซึมเศร้านั้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ50)เกิดภาวะซึมเศร้านี้มาตั้งแต่เด็ก
จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลกปี 2017 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก
โดยในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5
แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่ไม่ควรมองข้ามเพราะวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมีข้อมูลแนวโน้มการฆ่าตัวตายพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน
แบ่งปันความเศร้า เพื่อบำบัดความทุกข์
ข้อมูลเสริมของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่าในช่วงปีงบประมาณ 2561 มีกลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1
โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว และสำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง
สาหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในเด็กมีด้วยกันหลายข้อเช่นเดียวกับผู้ใหญ่คือเรื่องของพันธุกรรม ด้านอารมณ์สภาพจิตใจ ครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อม โดยผลกระทบที่ตามมาก็คือเด็กทำอะไรไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่เต็มที่ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องพัฒนาการสังคม การสร้างความสัมพันธ์ ไม่คอยอยากเข้าหาผู้อื่น ไม่สุงสิง มีพฤติกรรมก้าวร้าว
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะสามารถช่วยเด็กได้คือการดูแล เอาใจใส่จากคนในครอบครัว โดยต้องเริ่มใส่ใจตั้งแต่เด็กเพราะยิ่งเด็กจะยิ่งสามารถสร้างความผูกพันได้ง่ายกว่าช่วงที่โตแล้ว คอยมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็กเสมอ เพราะการรักษาแต่ต้นก็จะยิ่งดี ทางการแพทย์อาจจะมีการให้ยาเพื่อปรับอารมณ์ แต่ส่วนหนึ่งก็คือการฟื้ฟูจิตใจด้วยความรัก
การที่เด็กเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ล้มเหลว หรือเด็กคนนั้นหมดอนาคตแล้ว เพราะผู้ใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนก็สร้างสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้กับโลกใบนี้
รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี
ขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- “โรคซึมเศร้าในเด็ก” ภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม! : Rama Square ช่วง Daily expert