จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว ขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นที่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา แม้ระยะทางจะไกลเกือบ 700 กม. แต่ก็ส่งผลให้อาคารสูงหลายแห่งใน กทม.สั่นสะเทือนอย่างเห็นได้ชัด
วันนี้ (22 พ.ย.62) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ได้จัดงานแถลงข่าว ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศลาวต่อประเทศไทยและแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือ

สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 62 ส่งผลให้อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. ได้รับแรงสั่นสะเทือน อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวระดับกลางและเป็นแผ่นดินไหวระยะไกลประมาณ 600-700 กม.จากเมืองหลวงของประเทศไทย
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชากรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหววานนี้ที่วัดที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้น 1 จาก 10ของระดับที่คาดการ์ณว่าจะเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้น เพราะเคยเกิดเหตุเช่นนี้มาแล้ว
ทั้งนี้จากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่า การเกิดแผ่นดินไหว 6 ริกเตอร์สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ รวมทั้งภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวระดับนี้ก็มีพลังมากพอที่จะทำลายอาคารบ้านเรือนได้
อาคารส่วนใหญ่ในภาคเหนือของประเทศยังไม่ได้รับการออกแบบให้มีการต้านทานแผ่นดินไหว และในความเป็นจริงแล้วอาคารสาธารณะหลายอาคารยังไม่ได้สร้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย
“เราทำการเช็คสภาพแอ่งดินของเราซึ่งใช้เทคนิคการวัด การวิเคราะห์ขั้นสูงทำให้เรารู้ว่าแอ่งดินอ่อนของเราจริงๆแล้วใหญ่มากและลึกมาก โดยขอบเขตภายในแอ่งรวมด้วยกันหลายจังหวัด แต่กรุงเทพอยู่ในจุดก้นแอ่งที่ลึกที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถขยายคลื่นความถี่จากแผ่นดินไหวได้มาก”
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้หลายอาคารใน กทม.ได้รับผลกระทบนั้นมาจาก สภาพชั้นดินของ ก.ท.ม เป็นชั้นดินอ่อนเหนียว จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า
ปัจจัยต่อมาคือ อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานที่มีความสูง 10 ชั้นขึ้นไปมีค่าความถี่ธรรมชาติพ้องกับดิน ทำให้เกิดการสั่นแรงผิดปกติ และปัจจัยสุดท้ายคือ อาคารสูงหลายแห่งใน ก.ท.ม. มีการก่อสร้างก่อนปี 2550 ไม่ได้มีการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว

ในส่วนอาคารสูงใน กทม. มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีแหล่งกำเนิด 3 แห่ง
- รอยต่อแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย มีความแรง 8-9.5 ริกเตอร์ ระยะห่างจาก ก.ท.ม. 1,200 กม.
- รอยเลื่อนทางภาคเหนือและปะเทศลาว ความรุนแรง 6-7 ริกเตอร์ ระยะห่างจาก ก.ท.ม. 600-700 กม. (เหตุกาณ์วานนี้)
- รอยเลื่อนทางภาคตะวันตก (ศรีสวัสดิ์ และ เจดีย์สามองค์)และประเทศพม่า (รอยเลื่อนสะแกง) ความรุนแรง 6-8 ริกเตอร์ ระยะห่างจาก ก.ท.ม. 200-400 กม.ทั้งนี้จะต้องระวังรอยเลื่อนสะแกงในพม่า เนื่องจากอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 8.5 ริกเตอร์ มีระยะห่างจาก กทม. เพียง 400 กม.
ศาสตราจารย์ ดร. อมร ยังกล่าวต่ออีกว่า พื้นที่ที่จัดว่าเสี่ยงภัยใน กทม. ประกอบไปด้วย ตึกแถวเนื่องจากมีลักษณะเสาเล็ก คานใหญ่ อาคารท้องเรียบไร้คาน เช่น อาคารที่จอดรถ อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือที่ชั้นล่างเปิดโล่ง อาคารที่สร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดิมเชื่อมกัน
มาตรการรับมือเชิงโครงสร้างที่ศาสตราจารย์ ดร. อมร เสนอคือ
- สำหรับอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ ต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทอนของแผ่นดินไหว
- ส่วนอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จะต้องผ่านการประเมินสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหว หากมีการพบว่าไม่แข็งแรงพอ ก็มีการเสริมความแข็งแรงได้หลายวิธี การติดตั้งโครงเหล็กค้ำยัน การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ การหุ้มด้วยแผ่นเหล็ก การพอกเวาให้ใหญ่ขึ้น
ส่วนนายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ได้เสนอแนวทางการตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 9 ข้อ ดังนี้
- การตรวจสอบสิ่งของที่ร่วงหล่น ตรวจสอบที่ยึดกับตัวอาคาร เช่นเครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร
- ลิฟต์โดยสาร การติดขัด สั่นสะเทือนผิดปกติระหว่างการทำงาน
- ท่อน้ำ ตรวจสอบในช่องท่อน้ำแนวดิ่ง เช่น ท่อน้ำประปา ท่อน้ำระบบปรับอากาศ
- ท่อก๊าซหุงต้ม ตรวจสอบการรั่วซึม
- สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าในแนวดิ่ง ตรวจสอบในห้องไฟฟ้าประจำชั้นเพื่อดูว่ามีการลัดวงจรหรือไม่ กรณี อาคารที่ใช้บัสดักแทนสายไฟให้ตรวจความเสียหายของอุปกรณ์ทั้งหมด
- ท่อระบายความร้อน และถังเก็บน้ำดาดฟ้า ตรวจสอบความมั่นคงกับการยึดติดที่ฐาน
- ตรวจสอบระบบดับเพลิง ท่อน้พดับเพลิง วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำ
- กรณีที่อาคารอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ต้องมีการตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซในอาคารและความพร้อมระบบป้องกัยเพลิงไหม้
- อาคารขนาดใหญ่และอาคารสูง ควรได้รับการตรวจสอบจากผู้มีความรู้
โดยขณะนี้คณะนักวิจัยของ ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ซึ่งกำลังดำเนินงานวิจัยโครงการ การศึกษาสภาวะความเค้นของธรณีภาคบริเวณประเทศไทยและการตรวจสอบรูปทรง ของรอยเลื่อนมีพลังแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้(21 พ.ย. 62)ในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน4 สถานี เพื่อติดตามการเกิดอาฟเตอร์ช้อค

ในงานแถลงข่าวยังได้มีการสรุปถึง แนวทางการรับมือแผ่นดินไหวในประเทศไทย ว่าแม้ประเทศไทยมีความเสี่ยงของพื้นที่ทางธรณีวิทยาในระดับต่ำถึงปานกลาง แต่การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ยังทำได้ไม่ดีนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารเก่า ยังไมพบการเสริมความแข็งแรงให้อาคารต้านแผ่นดินไหวอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในเรื่องความหนาแน่นของประชากร ในบางพื้นที่ของประเทศไทยก็เป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความสูญเสียที่เกิดจากแผ่นดินไหว ประเทศไทยจึงควรเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า โดยควรคำนึงแนวทางการรับมือแผ่นดินไหว 4 ด้านคือ ด้านกฎหมาย ควรปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมอาคารที่สูงไม่เกิน 15 ม. ในพื้นที่เสี่ยงภัย และบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแผ่นดินไหวอย่างเคร่งครัด
ด้านการศึกษา ควรเร่งศึกษารอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนพะเยา และรอยเลื่อนอื่นๆที่มีพลังอีก 14 รอยเลื่อน ด้านอาคารและโครงสร้าง ควรจัดทำฐานข้อมูลอาคารที่มีความเสี่ยง และเร่งเสริมกำลังอาคารเหล่านั้น โดยเฉพาะ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ราชการที่สำคัญ