อาการปวดหลังปวดคอที่หลายคนคุ้นชิน มักจะมาพร้อมกับกิจวัตรประจำวันอย่างการเล่นมือถือหรือนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน และนั่งผิดท่า ผิดวิธี จนหลายคนอาจไม่รู้เลยว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง อย่าง ตูน บอดี้สแลม ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูเป็นคนที่มีสุขภาพที่แข็งแรง ยังมีอาการ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลให้รู้สึกปวดที่คอร้าวลงมาที่แขนด้านซ้าย มีอาการชาและนิ้วทั้งห้านิ้วมีอาการอ่อนแรง
เบื้องต้นจาก MRI พบว่ามีหมอนรองกระดูกข้อที่ 7 กดทับเส้นประสาท ซึ่งอาการดังกล่าวเคยเกิดกับพี่ตูนสมัยที่วิ่งก้าวคนละก้าวเมื่อประมาณเกือบ 3 ปีที่แล้ว ขณะนี้ได้ทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการกายภาพบำบัดคอ นอนพักเฉยๆ งดทำกิจกรรม 2 สัปดาห์ และพักคอนเสิร์ตยาวไปอีก 2 เดือน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้แล้วหลายคนคงสงสัยว่า แล้วอาการแบบนี้จะเกิดกับใครได้บ้าง สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วถ้าเกิดเป็นขึ้นมาจะต้องรักษายังไง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเลย

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าลักษณะโดยทั่วไปของกระดูกคอของคนเราจะมีลักษณะเป็นกระดูกสันหลังที่เชื่อมมาถึงคอของเรา แต่ละข้อจะมีเส้นประสาทที่วิ่งออกตรงรูข้างๆ กระดูก หากใช้งานหนักหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมนานๆ ในบางครั้งจะมีกระดูกงอกปูดออกมาตรงที่เคลื่อนไหวผิดๆ สะสมเป็นเวลานานจนกระดูกส่วนนั้นไปกดทับกับเส้นประสาท
ลักษณะของอาการถ้ากระดูกไปกดทับเส้นประสาทที่เลี้ยงด้านหลังก็จะทำให้รู้สึกปวดร้าวไปข้างหลังได้นอกจากอาการปวดแล้ว อาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งสร้างความทรมานให้กับคนไข้อย่างมาก นอกจากนี้จะมีอาการปวดตรงส่วนที่ระคายเคือง และปวดออกไปตามแนวเส้นประสาท
แต่อาการนี้ไม่สามารถเกิดได้อย่างทันที ถ้าหากนอนตกหมอนมากสุดที่จะมีอาการก็แค่ถึงขั้นคอเคล็ด แค่ทายาแก้ปวดไม่นานอาการก็จะหายไป เพราะฉะนั้นแล้วจึงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดจากสาเหตุนี้ แต่สิ่งที่มีโอกาสทำให้เกิดแบบปุ๊บปั๊บรับโชคคือการที่ร่างกายถูกกระแทกอย่างแรงจนทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระดูกได้

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
มักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พอออกแรงหรือใช้แรงเบ่งมาก ๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ในทันที และวัยหนุ่มสาวที่มี Activity มาก ๆ ชอบออกกำลังกายหนัก ๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุ ย่อมมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่าย
แนวทางการรักษาโรคนี้
หากมีอาการปวดแล้วตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีแนวทางรักษาด้วยการบำบัดช่วยในเบื้องต้นหากมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ติดตามอาการกันต่อไปอีกซัก 6-12 เดือน แต่ถ้าหากกายภาพแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะทำการผ่าเพื่อตัดแต่งกระดูกในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก เพื่อให้เส้นประสาทกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ แต่จะใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น
หากกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น วิธีการป้องกันที่ง่ายที่สุดเลยก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของเราด้วยการปรับท่านั่ง หากต้องทำกิจกรรมที่อยู่ในท่าเดิมนานๆ ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบทเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อย และการออกกำลังกายอย่างเสมอก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวได้ แต่ต้องออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและไม่หักโหมมากจนเกินไป