แบนสารเคมี พาราควอต อาจเป็นชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่เพิ่งจะได้ยินเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา โดยพาราควอต เป็นชื่อของสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
พาราควอต ถือเป็นสารเคมีมีประสิทธิภาพสูง และต้นทุนที่ต่ำ จึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง โดยปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย
แม้ว่า พาราควอตจะเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ แต่จากข้อมูลวิจัยจากสถาบันต่างๆพบว่า พบสารพาราควอตปนเปื้อนตามดิน และแม่น้ำ ที่มีการเพาะปลูกและใช้สารเคมีดังกล่าว ทั้งยังพบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักและผลไม้ด้วย ซึ่งการนำผักและผลไม้ไปล้าง เอาไปแช่ หรือเอาไปต้มก็ไม่สามารถล้างสารพาราควอตออกไปได้ เนื่องจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส จึงมีโอกาสสูงอย่างมากที่ เราจะบริโภคสารพาราควอตเข้าไปในร่างกาย
ส่วนอาการความรุนแรงของสารพาราควอตมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ เช่นหากสัมผัสกับสารชนิดนี้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง เป็นผื่นรุนแรง และหากพาราควอตสัมผัสกับแผล อาจทำให้มีการดูดซึมสารเข้ากระแสเลือด และส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย
หากสูดดมเข้าไปก็จะทำให้ปอดได้รับความเสียหาย และยังเป็นอันตรายต่อทารกได้อีกด้วย ทั้งยังทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีฤทธิ์ทำลายสมอง มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์คินสัน และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยที่ผ่านมามี 53 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายห้ามใช้สารพาราควอต และไทยก็เป็นประเทศล่าสุด ที่มีการประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระ ทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 โดยประกาศนี้จะมีผลบังคับห้ามไม่ให้มีการผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง สารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช 5 รายการ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คลอร์ไพริฟอส 2.คลอร์ไพริฟอส-เมทิล 3.พาราควอต 4.พาราควอตไดคลอไรด์ และ 5.พาราควอตไดคลอไรด์ เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้ความเสี่ยงสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

