หูฉลาม หรือ “ฮื่อฉี่” ถูกจัดให้เป็นเมนูเลิศรสและเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของชาวจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง โดยกลุ่มชนชั้นสูงเชื่อว่า หูฉลามคือยาอายุวัฒนะ และมักจะถูกสั่งมาเพื่อแสดงความยินดีกับแขกคนสำคัญ หรือในโอกาสที่สำคัญ ที่สำคัญเมนูนี้เป็น เมนูต้องห้าม สำหรับคนทั่วไป หากมีการประกอบอาหารหรือทานจะถือว่าดูหมิ่นชนชั้นสูง
เหตุการณ์วิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา เมื่อหนึ่งในเมนูขึ้นโต๊ะอาหารคือ ซุป หูฉลาม ตุ๋นหม้อดิน ถูกเสิร์ฟในงานที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย บรรดาคณะรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรค มีการสังสรรค์พบปะพูดคุยที่สโมสรราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ อย่างเป็นทางการครั้งแรก เป็นการประชุมเพื่อหารือถึงปัญหาต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์
และยิ่งเพิ่มความดราม่ามากขึ้นเมื่อมีหลายฝ่ายขุดประเด็นที่ “บิ๊กตู่” ได้เคยกล่าวในวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อปี2559 (Go Wild For Life หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธ์)โดยมีการกล่าวถึงเมนูหูฉลามว่า
เรื่องสัตว์ป่าหลายอย่างมันอร่อย แต่บางอย่างตัวดำๆเห็นว่าไม่น่าอร่อย และที่แก้ไม่ได้คือหูฉลาม หลายคนติดใจความอร่อยแต่ถ้าเห็นตอนถูกเชือดจะกินไม่ลง กินแล้วได้อะไรขึ้นมาไม่เข้าใจ ตนเคยกินก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้เบาลง ทั้งเบื่อและสงสาร
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในวันต่อมา 4 ธ.ค. ก็เกิดกระแสต่อต้านเและการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์หรือดาราศิลปิน ทางเพจเฟซบุ๊ก WildAid Thailand ช่วยสัตว์ป่า กลุ่มอนุรักษ์ที่รณรงค์แคมเปญ #ฉลองไม่ฉลาม ได้มีการออกมาโพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้ ระบุว่า ข่าวงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ที่หนึ่งในเมนูอาหารค่ำคือ ซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน ถือเป็นเสียงสะท้อนที่ดีว่าความพยายามในการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเลิกบริโภคหูฉลาม อาจยังไปไม่ถึงบรรดาผู้นำในรัฐบาล ท่านจึงกลายเป็นผู้บริโภคเสียเอง
อ่านข่าว เอ็นจีโอ จวกโต๊ะจีน ปาร์ตี้พรรคร่วมรัฐบาลเสิร์ฟ “หูฉลาม”


ด้าน ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชาย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสังเกตว่า การเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจต่อปัญหาของฉลามและระบบนิเวศใต้น้ำเลย
“ฉลองยังต้องมีฉลามกันอีกหรือ? คนรณรงค์ ก็รณรงค์กันไป รัฐบาลก็ไม่สนใจ จะปาร์ตี้สยบรอยร้าวหรืออะไรก็ทำไปครับ แต่ฉลามไม่ได้รู้เรื่องด้วย หยุดทำร้ายฉลาม ทำลายระบบนิเวศในท้องทะเล ช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีหน่อยครับ เห็นข่าวงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ที่ 1 ในเมนูอาหารค่ำคือ ซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน ถือเป็นเสียงสะท้อนที่ดีว่าความพยายามในการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเลิกบริโภคหูฉลาม อาจยังไปไม่ถึงบรรดาผู้นำในรัฐบาล ท่านจึงกลายเป็นผู้บริโภคเสียเอง”

ทุกวันนี้หูฉลามถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีอาหารเหลา”สุดยอดของอาหารของชาวจีน เนื่องจากมีความเชื่อต่อๆ กันว่า หูฉลาม สามารถบำรุงกำลังเพิ่มฮอร์โมน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และช่วยเพิ่มปริมาณเชื้ออสุจิให้มากขึ้น
จากบทความ ‘หูฉลาม’ เมนูจักรพรรดิเปื้อนเลือด ชะตาเจ้าสมุทรในถ้วยซุปไร้ประโยชน์ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มีมุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ดังนี้
เพ็ชร ชินบุตร อดีตผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทดสอบสารอาหารในหูฉลาม ยืนยันว่า สารอาหารในหูฉลามมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับรับประทานไข่ไก่ 1 ฟอง
สง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุว่า หูฉลามเป็นอาหารที่มีโปรตีนเหมือนๆ กับปลาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง
เจริญ เลิศเจริญโชค ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า เมนูหูฉลามเป็นเพียงเมนูอาหารธรรมดาทั่วไป ไม่ได้ช่วยต้านมะเร็งหรือช่วยให้อายุยืนยาวได้ตามคำล่ำลือ
ข้อมูลและการศึกษาขององค์กรไวล์ดเอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) พบว่าฉลามที่ตกเป็นเป้าหมายของการล่าคือฉลามสายพันธุ์ขนาดใหญ่ที่ขยายพันธุ์ช้า โดยประมาณว่า ในแต่ละปีมีฉลามถูกฆ่าอยู่ราวๆ 63-273 ล้านตัว ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 100 ล้านตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่า 73 ล้านตัว ที่ถูกฆ่าเพียงเพื่อนำครีบไปประกอบอาหาร
ซึ่งขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศ ที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามเพื่อตัดครีบ มี 22 ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามเป็นรายกรณี อาทิ ห้ามจับเพื่อการพาณิชย์ ห้ามจับเป็นช่วงเวลา ห้ามจับในน่านน้ำที่กำหนด และมี 12 ประเทศ ที่ออกกฎหมายห้ามจับฉลามในทุกๆ กรณี ซึ่งทุกประเทศเห็นตรงกันว่าฉลามมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามจับ-ตัดครีบฉลาม เรากลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งออกหูฉลามมากที่สุดในโลก และจากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 72 รับประทานหูฉลามบ่อยคร้ังมากที่สุดในงานแต่งงาน ขณะที่ร้อยละ 61 รับประทานในงานรวมญาติ ส่วนร้อยละ 47 เกิดขึ้นในงานเลี้ยงทางธุรกิจ

ข้อมูลจากเสริมจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าเมื่อปี 2558 ระหว่างปี 2550-2555 มีสถิติการนำเข้าในประเทศสูงถึง 136 ตัน
ปัจจุบันราคา หูฉลามน้ำแดงอยู่ที่ (แผ่นใหญ่พิเศษ) S 6,000 M 8,000 L 10,000 บาท หูฉลามน้ำแดง (แผ่นใหญ่) S 3,000 M 4,000 L 5,000 บาท หูฉลามน้ำแดง (แผ่นเล็ก) S 500 M 800 L 1,000 บาท
หากเป็นตัวครีบที่ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร สนนราคากิโลกรัมละ 17,500-18,000 บาท ส่วนขนาดเล็กลงมาความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร อยู่ที่กิโลกรัมละ 5,400-5,500 บาท

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
‘หูฉลาม’ เมนูจักรพรรดิเปื้อนเลือด ชะตาเจ้าสมุทรในถ้วยซุปไร้ประโยชน์