เราค้นพบสิ่งที่เราทำแล้วจะทำให้เรานอนตายตาหลับได้ คือการที่เราใช้เวลาทำสิ่งที่ไม่ได้สูญเปล่า แล้วก็ก่อนตายถึงแม้ไม่ได้ผล เราก็บอกว่าเราทำเต็มที่แล้ว
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
ไขทุกข้อสงสัย ของชายที่ชื่อ “สิงห์ วรรณสิงห์” คนที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ออกเดินทางเพื่อทำความรู้จักโลก และหาคำตอบของคำถามที่ค้างอยู่ในใจ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวในรูปแบบ เถื่อนๆที่ไม่เหมือนใคร ถ้าพร้อมแล้วเราไปเที่ยวกันเลย
อาชีพนักเดินทาง?
อาชีพนักเดินทางมันไม่มีหรอกครับ แต่ถ้าถามในเชิงอาชีพผมก็คงเป็นนักทำสารคดี ซึ่งสารคดีที่ทำออกมาก็มีในรูปแบบหนังสือสารคดี รายการสารคดี คลิปออนไลน์สารคดี
สำหรับเรามันไม่เคยเป็นเรื่องเที่ยว เพราะลักษณะที่เราไปคือจะบอกว่าทำงานหนักกว่าอยู่กรุงเทพเยอะมาก วันละอย่างน้อย 14-15 ชั่วโมงตื่นตี 4 ตี 5เก็บอุปกรณ์ที่ชาตแบตทั้งหมด จัดกระเป๋า และถ้าวันนั้นต้องย้ายที่ ก็ต้องเก็บอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องถ่ายตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกเพราะว่าเวลาเรามีน้อย เราก็ต้องใช้ทุกวันให้มันเต็มที่ที่สุด

การทำเถื่อนทราเวลนั้นเราไม่ได้เริ่มว่าเราอยากไปที่ไหนแต่เริ่มจากเราอยากเล่าเรื่องอะไร แล้วเรื่องพวกนี้พาเราไปที่ไหน
และจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งนี้จริงๆมันไม่ใช่ความอยากแอดเวนเจอร์ อยากลุย มันคือความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า
ซึ่งตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องไปคนเดียว แต่เพราะตอนนั้นไม่มีงบ เราก็เลยลองดูดิถ่ายคนเดียวได้ไหม ทำไปทำมาก็ทำได้ แล้วก็เลยกลายมาเป็นคอนเซ็ปหลักสองอย่างของรายการ หนึ่งคือที่ที่คนดีๆเขาไม่ไปกัน กับสองคือไปคนเดียว ซึ่งถ้าใครได้ดูรายการเถื่อนตอนเทปนามิเบียเลย ก็เป็นเทปแรกเลยที่เดินทางคนเดียวในชีวิต

ทำไมต้องเถื่อน?
สำหรับคำว่าเถื่อนต้องยกเครดิตให้พี่โหน่ง วงศ์ทนง ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือเล่มเมื่อประมาณสี่ปีก่อน ที่ชื่อว่าเถื่อนเจ็ด ในตอนแรกผมก็ตั้งใจรวบรวมการเดินทางตลอดทั้งหลายๆปีก่อนหน้านั้นมาเขียนเป็นหนังสือที่มีเจ็ดการเดินทาง

ซึ่งตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะชื่ออะไรดีเราก็จะตั้งชื่อหนทางอะไรอย่างนี้ ให้มันดูเท่ๆ แต่ว่าพี่โหน่งวงศ์ทนง บอกว่า สิงห์ รู้ไหมว่าชีวิตเอ็งมันเถื่อนมาก พี่โหน่งก็เลยคิดว่าชื่อ เถื่อนเจ็ดไหม แล้วหลังจากเถื่อนเจ็ดมันก็แตกเป็นเถื่อนแปด เถื่อนทราเวล เพราะเราเองรู้สึกว่าคำนี้มันเป็นคำที่ในเชิงแบรนด์ดิ้ง เข้าใจง่าย
แต่ถ้าในเชิงความหมายปกติ คำว่าเถื่อน เราอาจจะไม่ได้ตรงตามอย่างนั้นซะทีเดียว เพราะเราไม่ได้อยากบอกว่าที่ที่เราไปมันป่าเถื่อน มันโหดร้าย แต่เราอยากสื่อในเชิงภาษาอังกฤษ คงเรียกว่า unexplored หรือหมายความว่า
การออกผจญภัยเพื่อตามหาอะไรบางอย่าง
ทำไมต้องเป็น War Zone?
สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เราทำเถื่อนทราเวลก็คือเราเห็นเรื่องสงครามมาตลอด แล้วเราไม่เข้าใจมัน เราไม่เข้าใจสภาพจิตของสังคมในสภาวะนั้นๆก็เลยดันให้เราออกไปหาคำตอบในพื้นที่นั้นๆ
พอหาคำตอบเสร็จแล้วก็เลยอยากส่งต่อไปด้วย ก็เลยส่งออกมาเป็นในรูปแบบรายการ ว่าสิ่งเราเรียนรู้มันเป็นอะไรบ้างอย่างที่คนในสังคมไทยหรือสังคมที่อื่นจะสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆกับเราได้
เวลาเราเลือกเป้าหมายในที่ที่เราไปเนี่ย ส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกจากว่าอยากไปเท่ากับประเด็นอะไรที่เราติดตามอยู่ แล้วก็มีประเด็นเสริมๆด้านดาร์กๆต่างๆเช่น คนไทยอยากรู้เรื่องอะไร หรือบางอย่างก็เป็นเรื่องการผจญภัยที่เราอยากทำมานานแล้ว เช่น ข้ามซาฮาร่ามันเป็นยังไง

หนึ่งในทริปที่ผมได้อะไรเยอะสุดคือ สองอาทิตย์ที่ผมอยู่ในอัฟกานิสสถาน เป็นWAR Zone ที่แรก มันไม่ใช่แค่เรื่องความเข้าใจในสงครามที่ได้ แต่มันเป็นความเข้าใจในชีวิตโดยรวมมากกว่า
เรื่องราว 100 เรื่องใน 100 ภาพ ?
ตอนนี้เราเดินทางมาจริงจังก็ประมาณ 11 ปีมันย่อมเกิดประสบการณ์ที่ทับถมเรื่อยมา มีเรื่องหลายอย่างซึ่งยังไม่เคยเล่าที่ไหน บวกกับอีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเอาออกมานำเสนออย่างจริงจังเท่าไหร่มาก่อน ก็คืองานถ่ายภาพนิ่ง

ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดี เราก็เลยรวบรวมภาพถ่ายทั้งหมด 100 ภาพซึ่งเล่าเรื่องราว 100 เรื่อง มาทำเป็นหนังสือเล่มใหม่ชื่อ เถื่อน100 ซึ่งถ้ามองผ่านๆมันคือ โฟโต้บุ๊ค แต่สำหรับผมขอเรียกมันว่า สตอรี่บุ๊ค เพราะว่าทุกภาพมีมีเรื่องราวอยู่ในนั้นด้วย
เรามั่นใจว่านี่ไม่ใช่หนังสือที่ภาพสวยที่สุดแน่นอน แต่เป็นหนังสือที่เรื่องที่อยู่ในนั้นหายากมาก แล้วกว่าจะรวมมันครบ ใช้เวลานานมากๆจริงๆ