สงครามโลกครั้งที่ 3 เปิดจุดแตกหัก สหรัฐ-อิหร่าน ปมสังหารผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ “พลตรี ซูลีมานี” คือใคร ทำไมอเมริกาต้องสั่งฆ่าทันที นอกจากนี้ยังเกิดแฮชแท็ก #WWIII หมายถึง สงครามโลกครั้งที่ 3
กลายเป็นแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์โลกทันทีสำหรับ #WWIII หรือหมายถึงครามโลกครั้งที่ 3 หลังจากสหรัฐฯ ส่งโดรนยิงจรวดสังหาร พลตรี ซูลีมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศอิรัก
หลายฝ่ายมองว่าทำไม สหรัฐฯ ถึงเปิดยุทธการโจมตี พลตรี ซูลีมานี เพราะสหรัฐฯและอิหร่ายเคยเป็นเพื่อนซี้กันมาเนื่องจากช่วงหนึ่งอเมริกาเข้าไปสัมปทานบ่อน้ำมันในอิหร่านจำนวนมาก
ล่าสุดเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch ได้เปิดเผยเรื่องราวระหว่าง สหรัฐและอิหร่าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเดินทางมาถึงวันแตกหักไม่สามารถเป็นเพื่อนหรือสานสัมพันธ์ทางการทูตได้อีก
- สหรัฐฯ กับอิหร่านเคยเป็นเพื่อนซี้กันมาก่อน ตอนนั้นสหรัฐฯ เข้าไปสัมปทานบ่อน้ำมันในอิหร่านจำนวนมาก และก็สหรัฐฯ นี่แหละที่เป็นผู้ริเริ่ม “โครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ” ให้อิหร่าน
- จุดที่ทำให้เพื่อนซี้แตกหักกันเกิดขึ้นในปี 1979 ซึ่งมี “การปฏิวัติอิหร่าน” เกิดขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลาม ทำให้ “พระเจ้าชาห์” กษัตริย์อิหร่านซึ่งสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯ
- หลังการปฏิวัติ รัฐบาลอิหร่านก็เอาสัมปทานน้ำมันและกิจการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ เคยกุมบังเหียนอยู่มาดูแลเอง ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯ ไม่พอใจเพราะเสียผลประโยชน์มหาศาล
- วันที่ 4 พ.ย. 1979 นักศึกษาปฏิวัติมุสลิมชาวอิหร่านโกรธแค้นที่สหรัฐฯ ให้พระเจ้าชาห์ลี้ภัย พากันไปบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน แล้วจับเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯ 52 คนไว้เป็นตัวประกัน โดยกักตัวไว้นานถึง 444 วัน เพื่อกดดันสหรัฐฯ ให้ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับมารับโทษที่อิหร่าน
- ตลอดเวลา 1 ปีกว่าที่เจ้าหน้าที่ถูกจับเป็นตัวประกัน สหรัฐฯ พยายามช่วยเหลือตลอดแต่ไม่สำเร็จ แถมยังสูญเสียกำลังคนด้วย อิหร่านทำให้มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ อับอายไปทั่วโลก ด้วยการนำตัวประกันมาปิดตา แล้วเดินประจาน

- เมื่อพระเจ้าชาห์เสียชีวิตลงในปี 1980 อิหร่านก็ยังไม่ปล่อยตัวประกัน เหตุการณ์นั้นคลี่คลายลงได้ เพราะเอกอัครราชทูตเยอรมันตะวันตกประจำกรุงเตหะราน มาช่วยเจรจาลับให้ อิหร่านจึงยอมปล่อยตัวประกันเมื่อ 20 ม.ค. 1981
- เหตุการณ์นี้เป็นจุดสะบั้นความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอิหร่านอย่างแท้จริง นับแต่นั้นมาทั้งสองประเทศก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกเลย แถมฮึ่มฮั่มใส่กันตลอด เปลี่ยนสถานะจากเพื่อนซี้มาเป็นคู่แค้นตลอดกาล
- ต่อมาสหรัฐฯ อ้างว่าได้ข้อมูลมาว่าอิหร่านลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงขอให้สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้าไปตรวจสอบ ก็พบว่าอิหร่านเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ ทำให้อิหร่านโดนสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติคว่ำบาตร
- เรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 13 ปีเต็ม กระทั่งในยุคที่ “บารัค โอบามา” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเจรจาก็บรรลุผล นำไปสู่การลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านได้สำเร็จ
- สำหรับข้อตกลงดังกล่าวมีรายละเอียดสำคัญว่า ไม่ให้อิหร่านใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี แล้วจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรให้ อิหร่านซึ่งทำมาหากินลำบากหลังถูกคว่ำบาตรก็ยอมลงนาม
- ต่อมาเมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์อ้างว่า ได้ข้อมูลมาว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง แอบไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีก สหรัฐฯ จึงขอถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์
- จากนั้นทรัมป์ก็ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ พูดง่าย ๆ คือห้ามใครคบอิหร่าน บริษัทเอกชนทุกสัญชาติที่ไปร่วมสังฆกรรมกับอิหร่านก็จะโดนคว่ำบาตรไปด้วย
- อิหร่านตอบโต้กลับด้วยการขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุช ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก ประเทศค้าน้ำมันต่าง ๆ ใช้เส้นทางนี้ลำเลียงน้ำมันไปขายให้ประเทศอื่น ๆ ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบนี้จริง ทั้งโลกจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแน่นอน
- ระหว่างนี้สหรัฐฯ กับอิหร่านก็พ่นไฟใส่กันเป็นระยะ เช่น อิหร่านระเบิดเรือน้ำมันซาอุฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ, อิหร่านยิงโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ, สหรัฐฯ โจมตีค่ายกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนอิหร่าน ฯลฯ
- เมษายน 2562 ทรัมป์สั่งขึ้นบัญชีกองทัพของอิหร่านเป็น “องค์กรก่อการร้ายต่างแดน” อิหร่านก็ไม่ยอม ขึ้นบัญชีกองทัพของสหรัฐฯ เป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วย

- พลตรีกัสเซ็ม ซูลีมานี อายุ 62 ปี เป็นบุคคลสำคัญสุด ๆ ของอิหร่าน เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Forces) ซึ่งเป็นกองกำลังลับที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอิหร่านและในตะวันออกกลาง
- ซูลีมานี ได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของ “อะลี คอเมเนอี” (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และซูลีมานี เองก็ถือเป็น “เบอร์ 2” ของอิหร่าน อำนาจในการตัดสินใจหลายอย่างขึ้นอยู่กับเขา จนถูกเรียกว่า “มันสมองของอิหร่าน” และเขายังเป็นขวัญใจชาวอิหร่านด้วย
- อิทธิพลของซูลีมานีไม่ได้แผ่ขยายแค่ในอิหร่าน แต่หยั่งรากลึกในตะวันออกกลางด้วย นายพลคนนี้เป็นผู้ปฏิบัติการลับและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างในตะวันออกกลาง เช่น แทรกแซงสงครามการเมืองซีเรีย เจรจาจัดตั้งรัฐบาลอิรัก ฯลฯ
- แต่ในสายตาของหลาย ๆ ประเทศ นายพลซูลีมานีเป็นเสมือน ‘ตัวเชื่อม’ ของอิหร่านกับกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลายในตะวันออกกลาง เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน ฝึกฝนและติดอาวุธให้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าซูลีมานีอยู่เบื้องหลังการโจมตีและสังหารทหารสหรัฐฯ หลายครั้ง
- วันที่ 31 ธ.ค. 62 ชาวอิรักซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการฝึกจากอิหร่าน บุกโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด มีการขว้างปาก้อนหินและเผารั้ว แล้วยังเขียนบนผนังว่า “Soliemani is our leader” (ซูลีมานีคือผู้นำของเรา)
- เช้าวันที่ 3 ม.ค. 63 ที่ประเทศอิรัก ขณะนายพลโซไลมานีกำลังนั่งรถหุ้มเกราะไปสนามบินแบกแดด โดรนโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ก็ยิงถล่มขบวนรถของเขาด้วยจรวดหลายลูก ส่งผลให้นายพลโซไลมานีเสียชีวิตทันที และมีคนอื่นเสียชีวิตด้วยอีก 7 คน
- กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า ปฏิบัติการนี้เป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากโซไลมานีวางแผนโจมตีนักการทูตสหรัฐฯ ในอิรัก
- อิหร่านประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศ 3 วัน ในขณะที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศว่าจะแก้แค้นอย่างสาสม
- อิหร่านแต่งตั้ง “พลตรีเอสเมล กานี” (Esmail Ghaani) ขึ้นมารับตำแหน่งแทน และนายพลคนใหม่ประกาศว่า อีกไม่นานจะได้เห็นศพของอเมริกันในตะวันออกกลาง
- ชาวอิหร่านผู้โกรธแค้นนับหมื่นคน พากันออกมาชุมนุมในกรุงเตหะรานและเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อประท้วงสหรัฐฯ
- สหรัฐฯ เกรงว่าทหารสหรัฐฯ 5,000 นายในอิรักอาจตกเป็นเป้าโจมตี จึงส่งกำลังเสริมไปอีก 3,000 นาย พร้อมเตือนชาวอเมริกันให้รีบออกจากอิรัก
- หลาย ๆ ฝ่าย อาทิ ยูเอ็น สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน ตุรกี ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำของประเทศคู่กรณีใช้ความอดกลั้น และถอยห่างจากความรุนแรง