นักวิจัยเผย…ยุคของสมาร์ทโฟน ยุคของการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนี้เรารู้ดีว่าสมาร์ทโฟนเป็นของใช้สำคัญที่มนุษย์พกติดตัวไปในที่ต่างๆ ทุกที่ทุกเวลา แม้แต่เข้าห้องน้ำ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะสมาร์ทโฟนเป็นอาวุธที่ช่วยให้ชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการสื่อสาร การรับส่งข้อความ การซื้อสินค้าออนไลน์ การใช้แผนที่นำทางระหว่างเดินทาง และอื่นๆ ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้แทบจะขาดสมาร์ทโฟนไม่ได้แล้ว
แต่ในข้อดีนั้นมีข้อเสียแอบแฝงอยู่เช่นกัน แม้สมาร์ทโฟนจะช่วยอำนวยความสะดวกชีวิตได้ดีแค่ไหนก็ตาม เพราะส่วนหนึ่งพบว่ายุคของสมาร์ทโฟนเป็นยุคของความเครียดด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่เกิดในยุคของสมาร์ทโฟน จากรายงาน The Atlantic กล่าวว่าเด็กที่โตมากับสมาร์ทโฟนมีปัญหาในเรื่องของความเครียด และการฆ่าตัวตายค่อข้างสูงทีเดียว Jean M. Twenge นักเขียนจาก The Atlantic ได้จัดกลุ่มเด็กที่เกิดในปี 1995-2012 ให้ชื่อว่า iGen เป็นกลุ่มที่เติบโตมาในยุคของสมาร์ทโฟนและแทบจะขาดอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่ม iGen คือมีอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มากเกินไป จากการสอบถามเด็กสาวอายุ 13 ปีที่มีการใช้สมาร์ทโฟนมาตั้งแต่อายุ 11 ปี เธอกล่าวว่า “พวกเรานึกภาพการใช้ชีวิตโดยที่ไม่มี iPhone หรือว่า iPad ไม่ออกเลย บางทีเราก็คิดว่าเราชอบที่จะอยู่กับโทรศัพท์ของเรามากกว่าอยู่กับคนจริงๆ เสียอีก”
ขณะที่เคยมีคำกล่าวในนิตยสารกล่าวว่านักเรียนเกรด 8 (ม.2 ในบ้านเรา) อยู่กับโลกโซเชียลฯ ในเวลา 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้นมีความสุขน้อยกว่าผู้ที่ใช้โซเชียลฯ น้อยกว่า โดยอัตราความสุขที่น้อยกว่าสูงถึง 56 เท่า แสดงให้เห็นถึงภาวะความเครียดที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปนั่นเอง ทั้งยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย