รายงาน : ส่อง “ดีลลับ” เมื่อ “ประชาธิปัตย์” เสียงแตก วัดใจจุดยืนบน “ปากเหว”
“ห้ามไม่ค่อยฟังครับ ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรถึงต้องตะแบง ต้องเรียนว่ายังไม่มีมติ ต้องให้เกียรติกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่จะพิจารณาต่อไป“

เสียงที่ประกาศออกมาชัดเจนจาก “ชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ส่งข้อความตรงถึงกลุ่ม “ถาวร เสนเนียม” ต่อท่าทีการร่วมรัฐบาล ระหว่างพิธีทางศาสนาอิสลามในวันครบรอบ 73 ปีก่อตั้งประชาธิปัตย์เมื่อ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา
กลายเป็นการตอกย้ำถึงภาวะ “เสียงแตก” ภายในประชาธิปัตย์ต่อจุดยืนการร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” เมื่อการลาออกของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ“ อดีตหัวหน้าพรรค ได้ปลดล็อคคำประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯไปด้วย ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 30 ส.ส.ประชาธิปัตย์ครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญต่อเสียง ส.ส.ที่ไปประกบเพื่อฟอร์มรัฐบาลทันที

หากมองการตัดสินใจของประชาธิปัตย์นาทีนี้ ยังแยกออกไป “2 ขั้ว” โดยขั้วแรกเลือกจะร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” นำโดย ถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ว่าที่ ส.ส.ชุมพร ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ ส.ส.ตรัง ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ส.ส.ตาก และ จิตภัสร์ กฤดากร พร้อมระดมพลแนวร่วมเคลื่อนไหว เพื่อล้างขั้ว “อภิสิทธิ์“ เดิมภายในพรรค เข้าผงาดคุมประชาธิปัตย์ให้เบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะ “ดีล” สำคัญส่งมายังกลุ่มก้อน 30 ส.ส. ต่อการเข้าไปร่วมรัฐบาลในโค้วต้ากระทรวงต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ “กระทรวงเกษตรฯ”

ขณะที่อีกขั้วยังเป็นคนใกล้ชิด “อภิสิทธิ์“ ที่พยายามผลักดัน “กรณ์ จาติกวณิช” “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หรือแม้กระทั่งมีชื่อ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน“ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยเฉพาะชื่อ “กรณ์” ถือเป็นอีกหนึ่ง “ตัวเต็ง” จะมาแทนที่ “อภิสิทธิ์” ในภาวะประชาธิปัตย์เปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นยังเป็นขั้วที่รอการ “ตัดสินใจ” ว่าจะเลือกร่วมกับ “พลังประชารัฐ” หรือไม่ เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ จะถูก “ตีตรา” ว่าร่วมกับคสช.เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งย้อนแย้งกับอุดมการณ์ 10 ข้อตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ขีดเส้นใต้ 3 เส้นไปที่ข้อ 4. ที่ระบุว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”
ทำให้ยังได้ยินเสียงสนับสนุนให้ประชาธิปัตย์ยึดใน “จุดยืน” เพื่อรักษาความเป็นพรรคระยะยาว โดยกลับไปอยู่ในเวที “ฝ่ายค้านอิสระ” ทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” รัฐบาลอย่างเข้มข้น เหมือนที่เคยตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โครงการจัดซื้อภายในกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง รอจังหวะ “เสียงปริ่มน้ำ” ในสภาที่พร้อมสะเทือนรัฐบาลได้ทุกเมื่อ

ถึงแม้ล่าสุดสุ้มเสียงจาก “ถาวร” ยังคงต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จากการเมืองอยู่ 2 ขั้ว 1.ขั้วต่อต้าน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ 2.สนับสนุน “ทักษิณ” ซึ่ง “ถาวร” ประกาศย้ำว่าต่อต้าน “ทักษิณ” มาตลอด แต่สุดท้ายมติพรรคออกมาอย่างไร “ถาวร” ยืนยันจะยอมรับมติพรรค แต่ถ้ากลุ่มของตัวเองชนะก็คือชนะ !
ถือเป็นจุดยืนที่ชัดเจนว่า หากตัวเลข ส.ส.ภายในประชาธิปัตย์ หลังจาก “กกต.” ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะเป็น “ตัวแปร” ต่ออนาคตของพรรคที่อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูว่าคนในประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง ต่อสายเจรจาเพื่อขอบริหารในบางกระทรวงไว้แล้ว หากขนส.ส.ไปร่วม “พลังประชารัฐ“ ได้สำเร็จ ขณะที่“เพื่อไทย” ก็เร่งแก้เกมต่อสายพูดคุยกับอีกก๊กของประชาธิปัตย์ พร้อมยื่นขอเสนอเก้าอี้ “รองประธานสภาฯ“ 1 ตำแหน่ง แลกกับ “ประชาธิปัตย์” ยอมมาอยู่กับ “เพื่อไทย” ต่อต้านการรวมเสียงของ “พลังประชารัฐ” ไปด้วย
ยิ่งกระแสหนาหูการเข้าคุยกับ “งูเห่า“ ผ่านตัวเลขหลายหลัก ยิ่งเพิ่มดีกรีเสียงแตกใน “ประชาธิปัตย์“ ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในจุดยืนตัวเอง โดยมีบ้านหลังใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 73 ปีเป็นเดิมพัน
ภายหลัง 9 พ.ค. ที่ “กกต.” ประกาศผลคะแนนออกมา จะได้เห็นความเป็นไปของ “ประชาธิปัตย์” ไม่ว่าหันไปทางไหน ย่อมมีผลต่อคนในพรรค เป็นความเป็นไปต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ถูกแขวนอยู่บน “ปากเหว” ที่ผูกมัดอนาคตของพรรคในระยะยาวทั้งสิ้น