แม้ว่าช่วงนี้ฝนฟ้าจะโปรยปราย เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่สำหรับขาเที่ยวแล้ว ฤดูไหนก็ไม่อาจหยุดหัวใจที่อยากจะเดินทางได้ “เดินป่าหน้าฝน” ที่บรรยากาศฝนพรำฟ้าฉ่ำ ให้ความรู้สึกสดชื่น ทำให้อยากเข้าป่า ไปนอนฟังเสียงฝนตกเปาะแปะอยู่ในเต็นท์ หากเราวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อม การเข้าป่าหน้าฝน ก็จะยิ่งสนุกและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาเปิดคู่มือ “เดินป่าหน้าฝน” ไปด้วยกันค่ะ

1. เลือกเสื้อผ้าใส่สบายและแห้งเร็ว เพราะการ “เดินป่าหน้าฝน” เราต้องเจอกับอากาศชุ่มฉ่ำตลอดเวลา จึงควรเลือกเสื้อผ้าสวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ต่าง ๆ ไม่ควรเลือกผ้าฝ้าย เพราะอมน้ำและแห้งช้า
2.ใส่รองเท้าที่ซัพพอร์ตเท้า ทางเดินในป่า นอกจากไม่ราบเรียบเหมือนพื้นคอนกรีตในเมืองแล้ว ในช่วงหน้าฝนยังเปียกและลื่น ควรเลือกรองเท้าหุ้มข้อ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้ามาในเท้า และป้องกันแมลง ถ้าจะให้ดี ควรเลือกรองเท้าที่สามารถกันน้ำได้ เพื่อเท้าไม่อับชื้น
3.พกเสื้อกันฝน เสื้อกันฝนจะช่วยไม่ให้คุณเปียกปอนเกินไปนัก และ อย่างน้อยจะช่วยป้องกันให้ร่างกายของคุณไม่ชื้น จนหาที่แห้งไม่เจอ และในยามจำเป็น เสื้อกันฝน ยังสามารถใช้คลุมสิ่งของไม่ให้โดนน้ำฝนได้ด้วย
4.พกฟลายชีท (Flysheet) ซึ่งเป็นผ้าใบที่มีไว้สำหรับขึง เป็นหลังคากันฝน หรือ น้ำค้างไม่ให้ตกลงมาถึงเต๊นท์โดยตรง ซึ่งเสื้อผ้า ข้าวของบางอย่าง ควรใส่ถุงพลาสติกไว้ชั้นหนึ่งก่อนบรรจุลงเป้
5.เลือกทำเลกางเต็นท์ การกางเต็นท์กลางป่า ควรดูทิศทางและทำเล ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง ดังนี้
ไม่กางเต็นท์บริเวณที่อาจเป็นทางน้ำไหล หรือใกล้ลำธาร เพราะช่วงฤดูฝนอาจเจอปัญหาน้ำหลาก และควรหลีกเลี่ยง จุดที่เป็นแอ่งกะทะเพราะเมื่อฝนตก น้ำจะไหลลงในแอ่ง เท่ากับคุณกลางเต็นท์นอนในหนองน้ำแทน
ไม่กางเต็นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะหากเกิดพายุฝนกระหน่ำ อาจมีกิ่งไม้หักหล่นใส่
ไม่กางเต็นท์บนดอยสูงที่โล่งเตียน เพราะบนดอยสูง เป็นที่โล่งมีแนวประทะของลม หากเกิดลมกรรโชกแรง จะทำให้เต็นท์ถูกพัด ควรกางฟลายชีท และขุดร่องระบายน้ำรอบตัวเต็นท์ไว้ด้วย เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าตัวเต็นท์
ควรกางเต็นท์บนที่ราบเรียบปราศจากของแหลมคม เช่น ตอไม้ที่ตัดไว้ไม่หมด ก้อนหินที่มีเหลี่ยมมุม เพราะการตั้งเต๊นท์บนพื้นที่เหล่านั้นจะทำให้นอนไม่สบาย และทำให้เต็นท์เสียหายได้
6.ระวังสัตว์ป่ามีพิษที่มาพร้อมฤดูฝน เช่น แมงป่อง ตะขาบ งู ฯลฯ ที่มักจะหาที่แห้งหลบหนีน้ำ ควรเก็บถุงนอน เสื้อผ้า และของใช้อื่น ๆ ไว้อย่างมิดชิด โดยเฉพาะรองเท้า ก่อนสวมใส่ให้ตรวจตราสิ่งเหล่านี้ให้ดี ถ้ามียากันแมลง หรือ ปูนขาวให้โรยไว้รอบเต็นท์ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ
7.เรียนรู้การใช้เข็มทิศ เข็มทิศ และ แผนที่แบบกระดาษ เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการเดินป่า เนื่องจากในป่าอาจไม่มีสัญญาณมือถือ และเราไม่สามารถดูรู้เลยว่าอยู่ในทิศทางไหน การใช้เข็มทิศคู่กับแผนที่ จะช่วยนำทางเราไปยังทางที่ถูกต้อง และพาเราออกจากป่าเขาได้สำเร็จ หากเกิดการพลัดหลงจากกลุ่ม ดังนั้น จึงควรมีเครื่องมือเหล่านี้ติดตัวไปด้วย และเรียนรู้การใช้งานให้เข้าใจ
8.ไฟฉาย แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็น ไฟฉาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด ควรเป็นไฟฉายที่ป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่ง หรือเลือกใช้ไฟฉายสำหรับเดินป่าโดยเฉพาะก็จะดี
9.เตรียมเสบียงอาหาร ควรเตรียมอาหารสำเร็จรูปที่กินง่าย และให้พลังงานระหว่างวันติดตัวไปด้วย ส่วนการทำอาหารในป่าด้วยการก่อไฟจากฟืน นอกจากจะเป็นเรื่องที่ผิดระเบียบอุทยานฯ แล้ว ฤดูฝนยังทำได้ยาก จึงควรเตรียมแก๊สกระป๋องพร้อมหัวเตาแบบพกพาไปด้วย และไม่ควรเก็บของป่าที่ไม่แน่ใจมาว่าปลอดภัยมาประกอบอาหารเด็ดขาด เพราะพืชหรือเห็ดบางชนิดมีพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

10.ยารักษาโรค และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เป็นสิ่งที่ห้ามขาด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆน้อย ๆ หรือปวดหัว ตัวร้อนขึ้นได้
ทุกครั้งที่เดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะฤดูกาลไหนก็ตาม นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว ต้องไม่ประมาทและเที่ยวอย่างมีสติ เพื่อความสนุก ปลอดภัย และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขนะคะ
ข้อมูล : สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช