อาจารย์เจษฎ์ โพสต์ข้อความ ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในไทย จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลแค่ 13% เท่านั้น อยากให้เข้าใจธรรมชาติของโรคนี้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ โควิด-19 ในปีระเทศไทย โดยระบุข้อความว่า
“ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในไทย จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลแค่ 13% เท่านั้น”
จริงๆ ถ้าเรามีข้อมูลมารายงานทุกๆ วัน ว่าคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น ติดแล้วป่วยหนัก-ป่วยกลาง-ป่วยน้อยเท่าไหร่ หรือแม้แต่ติดแล้วไม่ป่วยเลยนั้นคิดเป็นเท่าไหร่ เราก็คงจะเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ได้ดีขึ้น ไม่แตกตื่นเกินไปหรือไม่ประมาทเกินไป
เนื่องจากไม่ใช่คนในวงการแพทย์ เลยเข้าหาข้อมูลพวกนี้ไม่ได้ค่อยได้ง่ายๆ เจอแต่ที่เพจของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php) ที่ระบุสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เอาไว้คร่าวๆ ว่า วันนี้ (10 มกราคม 2564) มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 10,298 คน (เค้านับทุกคนที่ติดเชื้อ เป็นผู้ป่วยหมด ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม) เสียชีวิต 67 คน (0.65 %) และมีผู้ป่วยรุนแรงในปัจจุบันแค่ 17 คนเท่านั้น !! (ซึ่งคนละเรื่องกับภาพจำของประชาชนส่วนใหญ่ ที่คิดว่าโรคนี้ติดแล้ว จะต้องป่วยหนักปอดอักเสบรุนแรง)
อีกส่วนที่พอจะเป็นข้อมูลละเอียดขึ้น แล้วนานๆๆ ประชาชนจะได้รับทราบซักที คือภาพด้านล่างนี้ (จาก https://www.hfocus.org/content/2021/01/20767) ที่มาจากการแถลง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ย้ำว่ามีเพียงพอ และระบุว่ามีผู้ป่วยอาการหนักนอนรักษาตัวในห้องไอซียูและใส่ท่อช่วยหายใจ 11 ราย (ณ วันนั้น)
ถ้าดูตามข้อมูลในภาพ ที่แสดงจำนวนของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 277 ราย (ณ วันนั้น) มี
จตช. ตั้งกรรมการตรวจสอบบ่อนพนันย่านเทพารักษ์ หลังพบหญิงติดโควิดรายที่ 256
สั่งปิด 2 จุด รพ.จุฬาฯ หลังพบบุคลากรติดโควิด 2 ราย ผู้เสี่ยงสูง 24 ราย
- ผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการป่วยใดๆ เลย จำนวน 85 คน คิดเป็น 31 %
- ผู้ป่วยอาการน้อย (เป็นไข้ ตัวร้อน ปวดเมื่อย ฯลฯ) จำนวน 157 คน คิดเป็น 57 %
- ผู้ป่วยอาการปานกลาง (มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มีอาการปอดอักเสบ) จำนวน 27 คน คิดเป็น 10 %
- ผู้ป่วยรุนแรง (เข้าห้องไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ) จำนวน 8 คน คิดเป็น 3 %
ส่วนพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 (รวม จ.สมุทรสาคร) มีผู้ป่วยนอนรักษา 320 ราย อาการหนักเพียง 1 ราย (คิดเป็น 0.3%)
และเขตสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก ตั้งแต่สมุทรปราการจนถึงตราด) มีผู้ป่วยนอนรักษา 248 ราย อาการหนัก 2 ราย (คิดเป็น 0.8%)
ซึ่งสรุปเป็นตัวเลขกลมๆ จากสถิติการระบาดของโรคโควิด-19 โดยดูจากกรุงเทพฯและปริมณฑล จะเห็นว่าจริงๆ แล้ว มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลแค่ 13 % (ซึ่งต้องเข้าไอซียูเพียง 3% ) ขณะที่คนที่ติดเชื้อและหายได้โดยง่าย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล (แต่ต้องเข้มงวดเรื่องการกักกันตัวที่บ้าน จะได้ไม่ไปแพร่เชื้อ) มีถึง 87%
ค่าตัวเลขตัวอย่างเช่นนี้ (ซึ่งถ้ามีตัวเลขของทั้งประเทศไทยมาร่วมประเมินด้วย จะยิ่งชัดเจนแม่นยำขึ้น) น่าจะทำให้คนไทยลดความหวาดวิตกกังวลกันจนเกินเหตุ ที่ถึงกับต้องเรียกร้องให้ล็อคดาวน์เศรษฐกิจสังคมการศึกษาทั้งประเทศ จนเสียหายกันไปเหมือนกับเมื่อการระบาดรอบแรก
ขณะที่ก็น่าจะทำให้เราไม่รู้สึกประมาท ที่จะเรียนรู้ว่า มีผู้ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยเลยไม่ต้องไปหาหมอ แต่ก็แพร่เชื้อโรคได้ รวมถึงกว่า 87 % (ใกล้เคียงกับตัวเลขที่รายงานไว้ในต่างประเทศ) จึงไม่ควรที่จะใกล้ชิด พูดคุย ทำกิจกรรมคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในระยะใกล้กันเกินไป (1 เมตร) เป็นเวลานานเกินไป (15 นาที) โดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย (ควรเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์)
อีกนโยบายที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนในอนาคต เมื่อจำนวนของเตียงผู้ป่วย ทั้งในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลสนาม เริ่มไม่เพียงพอ ก็คือ “เรายังจำเป็นต้องเอาผู้ติดเชื้อทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มีอาการป่วยเลยหรือมีแค่น้อยๆ มากักกันในโรงพยาบาล แล้วรอ 14 วัน ให้หมดเชื้อถึงจะออกมาได้” อีกต่อไปหรือไม่ ??
แน่นอนว่า นโยบายนี้เราใช้มาตลอดเพื่อการควบคุมแพร่ระบาด แต่นั่นก็ใช้ทรัพยากรทางสาธารณสุขของเราอย่างหนัก ไม่ใช่แค่เตียง หรือวัสดุอุปกรณ์ แต่รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ ที่ต้องมาทุ่มอยู่กับโรคโควิด-19 เพียงโรคเดียวด้วย … ถึงวันนึง เมื่อการระบาดเกิดขึ้นเยอะมากแล้ว เราอาจจะต้องทำตามอย่างประเทศอื่นๆ ที่บังคับให้ผู้ติดเชื้อกักตัวเองที่บ้าน (มีโทษปรับแรงๆ สำหรับคนที่หนีออกมา) แทนที่จะมาโรงพยาบาล
