จากกรณี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ ห้ามเผยแพร่ข่าวบิดเบือน ที่สร้างความหวาดกลัว โดยประกาศดังกล่าวจะเริ่มมีผลวันนี้ (30 ก.ค. 2564)
ล่าสุด รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า
หลังจากที่เคยมีผู้ทักท้วงข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) จนรองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงว่าห้ามเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ วันนี้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยมีข้อห้ามแบบเดิมอีก ทำให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลว่าต้องการห้ามการนำเสนอข้อมูลใดๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะ “จริง” หรือ “เท็จ”
หากบังคับใช้กฎหมายในแนวทางนี้ การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าจะทำโดยสื่อมวลชน บุคคลทั่วไป แม้แต่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะกระทำมิได้เลย เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าในแง่มุมใด ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวได้ด้วยกันทั้งสิ้น
ผลวิปริตเช่นนี้ คนทั่วไปก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อสามัญสำนึก ในขณะที่นักกฎหมายบอกได้ทันทีว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่เห็นได้ชัดว่าต้องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการที่ผิดพลาดของรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสุจริต ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ จึงควรปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนด้วยการร้องขอให้ศาลยุติธรรมประกาศว่ากฎหมายลำดับรองฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อกำหนด ห้ามนำเสนอข่าวปลอม สร้างความหวาดกลัว หากฝ่าผืนสั่งระงับไอพี
สมชัย โวย! ไม่มีใครแกล้งตาย ชี้รัฐบาลไม่อยากให้เป็นข่าว จึงใช้วิธีขู่เอาผิด
เปิดรายละเอียด ประยุทธ์ ลงนามราชกิจจาฯ ฝ่าฝืนระงับเน็ต – ตรวจสอบ ไอพี