ส่อเคล้าวิกฤต แม่น้ำยม ที่ไหลผ่าน 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร ลดระดับลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปี เนินดินเนินทรายโผล่ ตลอดระยะทางยาว 126 กิโลเมตร
วันนี้ ( 9 มกราคม 63 ) สภาพ แม่น้ำยม ที่ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล ตลอดระยะทางยาว 126 กิโลเมตร
โดยระดับน้ำในแม่น้ำยม ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นเนินดินเนินทราย เกาะแอ่งจำนวนมากโผล่ขึ้นมา ชาวบ้านสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาหากันได้ เนื่องแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนกักเก็บ ประกอบกับในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาค่อนข้างน้อยทำให้แม่น้ำยม ลดระดับลง และเกิดแห้งขอดเร็วและรุนแรงกว่าทุกๆปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณเตือนส่อเคล้าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ในลุ่มแม่น้ำยมจะแห้งแล้งรุนแรง นอกจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดแล้วระดับน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาลก็ลดระดับลงเช่นกัน

โดยนายรังสรรค์ ชูกะนันท์ อายุ 35 ปี เกษตรกรชาวนาบ้านโรงช้าง หมู่ที่ 3 ต.โรงช้าง อ.เมือง จ.พิจิตร ได้เล่าให้ฟังว่าตนเองได้ทำนาปรังทั้งหมด 9 ไร่ 2 งาน ซึ่งเดิมจะใช้น้ำจากการขุดบ่อวงซีเมนต์ ที่มีความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 เซนติเมตร ลึก 6 เมตร และติดตั้งปั้มสูบน้ำไว้ที่ก้นบ่อ โดยใช้เครื่องยนต์จากรถไถนาต่อสายพานยาวไปหมุนปั้มน้ำ เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใส่ต้นข้าวที่อายุ 2 เดือนที่ตั้งท้องออกรวงและกำลังต้องการน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากก่อนหน้านี้ด้วยความลึกประมาณ 6 เมตร สามารถสูบน้ำได้อย่างเพียงพ่อ แต่ปัจจุบันพบว่าระดับน้ำใต้ดินในบ่อวงนั้นลดระดับลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตนเองและเพื่อนบ้านต้องทำการทรุดบ่อวงให้ลึกลงไปกว่าเดิมอีกอย่างน้อย 4 เมตร รวมเป็น 10 เมตร จึงจะสามารถสูบน้ำจากใต้ดินมาใส่นาข้าวได้เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายต่อต้นข้าว


ขณะที่นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมแนวทางการช่วยเหลือ และเฝ้าระวังพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จังหวัดพิจิตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับทุกจังหวัด ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต่อการทำการเกษตร

โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งจะเสี่ยงผลผลิตเสียหายและขาดทุนได้ ยกเว้นเกษตรกรที่มี น้ำบาดาลในพื้นที่ของตนเอง แต่จังหวัดจะดูแลไม่ให้มีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคโดยเด็ดขาด หากหมู่บ้านใดที่น้ำประปาไม่เพียงพอ ก็ได้เตรียมการทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหา เช่น การสนับสนุนรถแจกจ่ายน้ำ การเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม ส่วนการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ของทั้ง 12 อำเภอ ว่ามีอำเภอใด ตำบลใดบ้างที่มีปัญหาภัยแล้งเข้าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศภัยก็จะให้การช่วยเหลือโดยทันที