วัยเรียน วัยทำงาน สูงวัย ระวังไว้! ปวดหลังบ่อย ปวดเรื้อรัง ปวดแบบไหนอันตราย แบบไหนควรไปพบแพทย์ อาจเกิดโรคอะไรบ้าง มาดูเลย
การไม่ปวดหลัง เป็นลาภอันประเสริฐ เกิดมาครั้งนึงเราจะต้องเคยปวดหลังกันบ้าง เป็นอาการที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในคนวัยทำงานและในผู้สูงอายุ เพราะการทำกิจวัตรเดิมๆ นั่งทำงานนานๆ ไม่เปลี่ยนท่าทาง การใช้งานกล้ามเนื้อที่หนักเกินไป จึงทำให้เราเกิดอาการปวดหลัง อาการอาจเป็นได้ทั้งแบบฉับพลันหรือแบบเรื้อรัง โดยมีสาเหตุได้หลากหลาย แล้วสาเหตุมีอะไรบ้างมาดูกัน!

สาเหตุของอาการปวดหลัง
- โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบ เกิดได้ทั้งแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อนทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังรุนแรงร้าวลงขา
- โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้เกิดการงอกของกระดูกสันหลัง มีการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบข้อต่อ เกิดการกดทับเส้นประสาทได้
- เนื้องอกหรือการติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลังและอวัยวะข้างเคียง
- โรคของอวัยวะในช่องท้อง เช่น นิ่วในท่อไต กรวยไตอักเสบติดเชื้อ หลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องโป่งพอง อาจทำให้มีอาการปวดท้องร้าวมาหลังได้
- ความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีอาการปวดหลังส่วนบนร่วมกับอาการไข้ ไอ เหนื่อย
อาการปวดหลังแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
- ปวดหลังเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน
- ปวดหลังรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน ทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- ปวดหลังมากจนนอนไม่ได้ ต้องตื่นมากลางดึกเพราะปวดหลัง
- ปวดหลังร้าวลงมาขา
- มีอาการขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- ปวดหลังรุนแรงหลังจากการเกิดอุบัติเหตุ
- มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น มีไข้ ปวดท้อง ปัสสาวะผิดปกติ ไอเหนื่อย
แต่อาหารปวดหลังก็มีโรคอันตรายที่ควรระวังอยู่เช่น โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ
โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ (spinal stenosis)
เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมาก เกิดจากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง (หมอนรองกระดูกเป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อกระดูกสันหลัง) ทำให้โพรงประสาทแคบลงจนไปเบียดรากประสาทหรือเบียดไขสันหลังซึ่งพบบ่อยมากที่ข้อกระดูกสันหลังระดับเอว
อาการของโรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ
- ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังส่วนล่างร้าวลงมาสะโพก
- มีอาการร้าวลงมาขาข้างนึงหรือสองข้าง บางครั้งมีอาการปวดร้าวลงไปปลายเท้า อาการจะเป็นมากขณะยืนหรือเดินเป็นเวลานาน
- บางครั้งมีอาการชาหรืออ่อนแรงขา ร่วมด้วย ต้องก้มตัว นั่งพัก บางคนต้องนั่งยอง ๆ เพื่อให้อาการดีขึ้นจนสามารถยืนและเดินต่อได้
- อาการมักค่อยเป็นค่อยไป จนมากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถยืนหรือเดินนานได้
แต่ทั้งนี้อาการปวดหลังก็ไม่ได้มีแค่โรคนี้โรคเดียว การรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอ สิ่งสำคัญคือ การป้องกัน โดยเน้นที่การปรับพฤติกรรมตนเอง และใช้งานหลังให้ถูกวิธี คือ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ควรประคองหลังตัวเอง ให้ตรงตลอดเหมือนกับแนวของแกนกระดูกสันหลังตามธรรมชาติ ทั้งนี้ถ้าใครมีอาการตามที่บอกไปข้างต้นก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
แหล่งที่มา โรงพยาบาลสินแพทย์ และ โรงพยาบาลพระรามเก้า
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY