อย่ามองข้าม! “หัวใจเต้นเร็ว” อาการชี้โรคร้าย อันตรายถึงชีวิต แค่ไหนถือว่าผิดปกติและควรไปพบแพทย์ รีบรักษาก่อนสายไป
ไขข้อสงสัยอาการทางหัวใจกับ “หัวใจเต้นเร็ว” เมื่อมีอาการหัวใจเต้นเร็วหลายคนมักกังวลว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่และมีคำถามมากมายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเข้าใจที่ถูกต้องไม่เพียงช่วยคลายความกังวล แต่ยังช่วยให้ดูแลหัวใจก่อนสายเกินแก้

ทำไมหัวใจถึงเต้นเร็ว?
โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง/นาที แต่หากหัวใจเต้นเร็วอัตราการเต้นของหัวใจจะสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที ส่งผลให้เหนื่อย หอบ หายใจไม่สะดวก ซึ่งมาจากการที่มีปัจจัยไปรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หัวใจไม่ได้ปั๊มเลือดตามปกติ
สาเหตุที่ทำไมหัวใจถึงเต้นเร็ว
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การออกกำลังกาย เป็นไข้สูง ภาวะตื่นเต้น ตกใจ กลัว ภาวะขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เสียเลือดมาก ภาวะเครียด วิตกกังวล การดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ฯลฯ
- ปัจจัยภายใน ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
- เป็นไข้แล้วหัวใจเต้นเร็ว เพราะเวลาที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานมากขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำทางเหงื่อและลมหายใจมากขึ้น ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักขึ้น ชีพจรจึงเต้นเร็วขึ้น
- นอนแล้วรู้สึกหัวใจเต้นเร็ว เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ อย่างโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมถึงโรคปอดอย่างหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ความเครียดและความวิตกกังวล เป็นต้น
หัวใจเต้นเร็วเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
- หัวใจเต้นเร็วอาจจะเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีสัญญาณไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เช่น Paroxysmal SVT, Atrial Fibrillation, Ventricular Tachycardia เป็นต้น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
- โรคผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- ภาวะหัวใจโตขึ้นแล้วเกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังและหัวใจล้มเหลวตามมานำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
- อาจจะเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจแล้วอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
หัวใจเต้นเร็วแค่ไหนถือว่าผิดปกติและควรไปพบแพทย์
หากสังเกตตัวเองแล้วมีอาการหัวใจเต้นเร็ว คืออัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที ติดต่อกันนานหลายนาทีไปจนถึงเป็นชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อตรวจเช็กหัวใจอย่างละเอียด
หากมีอาการหัวใจเต้นเร็วอย่าปล่อยทิ้งไว้ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพื่อตรวจเช็กสุขภาพหัวใจโดยเร็ว หากพบความผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที เพราะในบางครั้งอาจเป็นโรคหัวใจแบบที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงโรค ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เครียดจนเกินไป พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หากมีโรคประจำตัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
แหล่งที่มา โรงพยาบาลกรุงเทพ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY