รู้จักโรคที่มาพร้อมอากาศร้อนมาเยอะแล้ว มารู้จัก ภาวะตัวเย็น หรือ Hypothermia กันบ้าง! บอกเลยว่าอันตรายไม่แพ้ ฮีทสโตรก
วันนี้ Bright TV พามารู้จัก “ภาวะตัวเย็นเกิน” หรือ “ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia)” เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน เป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในอากาศหนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกาย และก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้

อาการไม่รุนแรง
หากมีอุณหภูมิร่างกายลดลงถึงระดับประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
- หายใจถี่
- คลื่นไส้
- มีอาการมึนงง พูดไม่ชัด
- มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
อาการรุนแรงปานกลาง
ผู้ป่วยที่มีอุณภูมิร่างกายอยู่ที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส มักมีอาการคล้ายกับอาการในขั้นไม่รุนแรง แต่จะมีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้ทำกิจวัตรง่าย ๆ ไม่ได้ และอาจพูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่อง
อาการรุนแรงมาก
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส จะพบอาการดังต่อไปนี้
- อาการสั่นอาจหายไป
- เกิดอาการมึนงงอย่างรุนแรง สติสัมปชัญญะลดลง
- ชีพจรเต้นอ่อนหรือเต้นผิดปกติ
- หายใจตื้นและหายใจช้าลง
- มีภาวะโคม่าและอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของภาวะตัวเย็นเกิน
Hypothermia มีสาเหตุมาจากร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถสร้างความอบอุ่นได้เพียงพอ ทำให้อุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยร่างกายของคนเราสูญเสียความร้อนได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องป้องกันความหนาวเย็นอื่น ๆ ที่ไม่หนาพอ
- การสัมผัสกับความเย็นโดยตรง เช่น การตกลงไปในน้ำที่เย็นจัด เป็นต้น
- การสัมผัสกับลมที่มีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน เพราะลมจะพัดเอาอากาศอุ่น ๆ ที่ปกคลุมบนผิวหนังออกไป
นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ Hypothermia ได้เช่นกัน อาทิ
- เด็กสูญเสียความร้อนในร่างกายได้เร็วกว่าผู้ใหญ่
- ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยและมีโภชนาการไม่ดีพอ
- ผู้ที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนเร็วกว่าปกติ
- มีมวลของร่างกายหรือปริมาณไขมันในร่างกายน้อย
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
- อยู่ในสภาพอากาศเย็นจัดเป็นเวลานาน
คำแนะนำในการป้องกันภาวะอากาศหนาวเย็น
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้ความอบอุ่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในน้ำเย็นหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกเป็นระยะเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอครอบคลุมศีรษะไปถึงหน้า และใส่ถุงมือถุงเท้า
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้หนาว เพราะจะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ยิ่งดื่มมากอุณหภูมิในร่างกายก็ยิ่งลดลงมาก หากปล่อยให้อุณหภูมิต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายกล้ามเนื้อจะเกร็งตัวจนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเซลล์สมองตายเนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด
- ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น คนใกล้ชิดควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นพิเศษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น และพาเข้าไปยังห้องที่มีความอบอุ่นและไม่มีลมพัดเข้า
- หากผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายด้วยการใช้ผ้านวม/ผ้าห่มห่อคลุมตัว หรือสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าคลุมถึงหน้าและศีรษะ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน นอกจากนี้ อาจนอนกอดหรือแนบชิดร่างกายผู้ป่วย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วยได้
- ให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนาๆ ปูรอง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรงๆ เนื่องจากอาจกระเทือนส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้
- หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์ไม่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ตามความเชื่อผิดๆ แต่จะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกไปมากขึ้น
- หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเบา ให้ทำการกู้ชีพ และโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY