โรคหายากเป็นได้น้อย แต่อันตรายมาก! โรคโมยาโมยา หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีความผิดปกติ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่รู้เรื่อง ชัก หมดสติ
หลายๆ คนคงไม่คุ้นหูกับโรคนี้ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่หาได้ยาก นั่นคือ โรคโมยา โมยา นั่นเองเป็นโรคที่พบได้น้อยแต่เป็นอันราายมาก เพราะพยาธิสภาพเกิดที่หลอดเลือดในสมองซึ่งทำให้สมองทั้งสองข้างมีการตีบแคบหรือว่าอุดตันไป และทำให้การทำงานของร่างกายเราทำตามคำสั่งได้ไม่เหมือนเดิม อาจจะเกิดความผิดปกติทางด้านการพูด หรือว่าการเคลื่อนไหวได้ แล้วอาการอื่นๆ มีอะไรบ้างมาดูเลย

อาการ
อาการที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือ อาการแขนขาอ่อนแรง เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก คนไข้เด็กส่วนหนึ่งที่เป็นโรคโมยาโมยาจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่หากบางรายที่มีเส้นเลือดอุดตันมาก จะมีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีกแบบถาวร ซึ่งนี่คือผลเสียมากที่สุด นอกจากนี้ยังอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเมื่อเนื้อสมองเกิดความผิดปกติ หรือมีอาการขาดเลือด อาจทำให้มีเซลล์สมองตายไปบางส่วน จึงทำให้ในอนาคตภายหน้าคนไข้อาจมีอาการชักร่วมด้วยได้
อาการแรกเริ่มของโรคโมยาโมยา
- อาการอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด
- อาการชัก จากความผิดปกติของเนื้อสมอง
- อาการปวดศีรษะเฉียบพลัน กรณีที่มีเนื้อสมองบวม จากการขาดเลือด
สาเหตุของโรค
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุอาการของโรคว่าเกิดจากอะไร ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่าง แต่ทั้งนี้โรคโมยาโมยาเป็นโรคที่พบน้อย ในยุโรปอาจพบเพียง 1 ในล้าน ในขณะที่เราจะพบโรคนี้ได้บ่อยในคนเอเชีย ซึ่งที่มีรายงานมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจพบได้ 1 ใน 200,000 ราย เนื่องจากเป็นโรคที่พบน้อย ดังนั้น สาเหตุของโรคจึงยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร
การรักษาโรค
ในปัจจุบัน การรักษาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
- คนไข้ยังไม่มีอาการอ่อนแรงที่รุนแรงมากนัก ยังสามารถกลับมาเป็นปกติได้ และลักษณะภาพ MRI ยังไม่ได้ผิดปกติมาก อาจใช้ยาบางตัวในการรักษา เช่น ยากลุ่มแอสไพริน ยาช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือดให้คนไข้กิน เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ผิดปกติ
- คนไข้บางรายที่มีอาการอ่อนแรงค่อนข้างมาก หรือมีอาการอ่อนแรงเป็นพักๆ ที่บ่อยจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถใช้วิธีการผ่าตัดต่อเส้นเลือดคือ เส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่พอสมควรที่อยู่บริเวณหนังศีรษะ หรือบริเวณกะโหลกศีรษะ คุณหมอศัลยกรรมระบบประสาทสามารถจะต่อเส้นเลือดภายนอกเข้าไปในหลอดเลือดสมอง เพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงเนื้อสมองเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งการรักษานี้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่สามารถทำการรักษาโดยวิธีผ่าตัดนี้ได้
หลังการผ่าตัดในคนไข้กลุ่มนี้ สิ่งที่จะเน้นมากคือ การกินยาละลายลิ่มเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งคนไข้ต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งและกินยาอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้นใครที่เริ่มสังเกตว่าตัวเองมีความผิดปกติก็ควรรีบไปพบแพทย์ รวมทั้งการดูแลสุขภาพอนามัยโดยรวม เช่น ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ภาวะอ้วน
แหล่งที่มา rama.mahidol
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY