สายมูห้ามพลาด ! เตรียมตัวจัดหาของไหว้ วันคเณศจตุรถี 19 กันยายน 2566 วันเฉลิมฉลององค์พระคเณศอันยิ่งใหญ่
19 กันยายน 2566 วันคเณศจตุรถี ฤกษ์มงคลบูชาพระพิฆเนศ วันเฉลิมฉลององค์พระคเณศอันยิ่งใหญ่ เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่พระองค์จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรแก่ผู้ศรัทธา โดยมีระยะเวลาถึง 10-11 วัน วันเริ่มงานวันแรกจะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ และสิ้นสุดในวันอนันตะจตุรทศี ขึ้น 14 ค่ำ เดือนภัทร ซึ่งในปี 2566 นี้จะตรงกับวันที่ 19-28 กันยายน 2566
สำหรับเทศกาลคเณศจตุรถีในเดือนกันยายนนี้ สถานที่สำคัญ ที่เตรียมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่มีมากมายหลายที่ เช่น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
วันคเณศจตุรถี
โดยปกติแล้วในอินเดีย มักจะสร้างเทวรูปขึ้นจากดิน ปั้นขึ้นมาเป็นองค์เพื่อใช้ในการบูชาในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี เมื่อเสร็จพิธีจะนำไปลอยน้ำ
อย่างไรก็ตามสำหรับเราที่อาจต้องการเพียงบูชา สามารถนำเทวรูปที่เราบูชาอยู่ทุกวันมาใช้บูชาในช่วงคเณศจตุรถีได้เช่นกัน เสร็จพิธีเพียงอัญเชิญกลับหิ้ง ไม่จำเป็นต้องลอยน้ำ แต่ระหว่างที่อัญเชิญท่านมาบูชาอาจทำความสะอาดเทวรูปก่อน รวมถึงทำความสะอาดหิ้งพระ และเทวรูปต่างๆ ของเราด้วย

สิ่งของที่ควรจัดเตรียม
ก่อนวันพิธีจะมาถึง เราควรจัดหาสิ่งของดังต่อไปนี้
- “โต๊ะเล็กๆ” หรือ “ผ้าปู” นิยมเป็นสีแดงหรือส้ม เพราะเป็นสีแห่งพลังงานและเป็นสีที่ท่านโปรดปราน เพื่อนำมาผูอาสนะเสมือนเป็นที่ประทับรับรองพระองค์ เวลาท่านเสด็จลงมา
- ข้าวสาร – ข้าวสารขาว (ที่เราใช้หุงกิน) ***ไม่ใช่ข้าวสารสีๆ ที่ใส่ขวดมาถวาย อันนั้น ไม่ใช้ ไม่ต้องหามาถวาย***
- น้ำเปล่าใส่ถ้วย พร้อมช้อนสะอาด สำหรับตักถวายเทวรูปในขั้นตอนต่างๆ
- น้ำปัญจมรัตน์ (นม โยเกิร์ต เนย น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย หรือน้ำอ้อย)
- ผ้าที่ใช้สำหรับเช็ดน้ำสะอาดหรือสำหรับล้างเทวรูป
- ผ้าสำหรับแต่งเทวรูป ถ้าไม่มีอาจใช้ด้ายฝ้ายสีแดงหรือย้อมสี ฉีกเป็นเส้น พอดีกับเทวรูป สำหรับคล้องแทนผ้าต่างๆ
- ผงสำหรับจุ่มเจิม
- น้ำหอมสำหรับประพรมเทวรูป
- เครื่องประดับเซ่น เช่น สร้อย กำไล ถ้าไม่มีถวายอาจใช้เหรียญเงิน เหรียญทอง หรือข้าวสารแทนของมีค่า
- ดอกไม้ มาลัย โดยเฉพาะ “ดอกชบา”
- ธูป หรือ กำยาน
- ดวงประทีป หรือ เทียน
- ผลไม้ตามฤดูกาล เครื่องดื่ม อาหาร สำหรับถวาย
- ขนมหวาน ลาดู โมทกะ
- หมาก พลู หญ้าแพรก
16 ขั้นตอนสักการะพระพิฆเนศ
1. พิธีอาวหนะ กล่าวอัญเชิญองค์พระคเณศประทับยังแท่นที่เตรียมไว้
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้”
2. พิธีอาสนะ นำข้าวสารหรือดอกไม้ โปรยที่แท่น หรืออาจเรียงเป็นรูปสวัสดิกะ แล้วนำเทวรูปวาง
3. พิธีปัธยะ ถวายน้ำล้างพระบาท
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์” จากนั้นนำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระบาทของเทวรูป 3 ครั้งแล้ว เทลงที่พระบาทหรือเบื้องหน้าเทวรูป
4. พิธีอะระฆะยะ ถวายน้ำชำระพระหัตถ์
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์” จากนั้นนำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป 3 ครั้งแล้ว เทลงที่พระบาทหรือเบื้องหน้าเทวรูป
5. พิธีอาจะมันยะ ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์” จากนั้นนำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้งแล้ว เทลงที่พระบาทหรือเบื้องหน้าเทวรูป
6. พิธีสะนานิยัม อภิเษกกัม ถวายน้ำสรงสนาน
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์ ถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม หรือถวายปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป” หลังสรงแล้ว ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี (หากไม่สรงที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาดวน รอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้องหน้าได้เช่นกัน)
7. พิธีวัตระ ถวายผ้าทรง
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่มต่อพระองค์” จากนั้นนำผ้าคลุมหรือผ้านุ่งที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่งหรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า
8. พิธีกันธะ ถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายเครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์” จากนั้นนำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป และนำน้ำหอมประพรมที่เทวรูป
9. พิธีอาภะระนะ ถวายเครื่องประดับ
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายเครื่องประดับต่างๆ ต่อพระองค์” จากนั้นนำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ อาทิ เช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า
10. พิธีปุษปะมาลา ถวายดอกไม้ และมาลัย
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายมาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์” จากนั้นนำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้คล้องถวายต่อเทวรูป หรือถวายไว้เบื้องหน้าเทวรูป หรือโปรยดอกไม้ให้ทั่วเทวรูป
11. พิธีธูปะ ถวายธูปหอม และกำยาน
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์” จากนั้นนำธูปหรือกำยานจุดวนถวายต่อเทวรูป
12. พิธีดีปัม ถวายดวงประทีป
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์” จากนั้นนำดวงประทีป หรือเทียนจุดถวายต่อเทวรูป หรือจะจุดวนถวาย ก็ได้เช่นกัน
13. พิธีไนเวดยัม ถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอนน้อมถวายผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่างๆ และเครื่องดื่มบริโภคทั้งหลายนี้ต่อพระองค์”
จากนั้นนำผลไม้ต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด ให้นำน้ำตักใส่ช้อนวนที่ผลไม้ ขนมหวานต่างๆ แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูป
14. พิธีตัมปูรัม ถวาย หมาก พลู หญ้าแพรก
อธิษฐานว่า “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ ข้าพเจ้าขอถวายหมากพลู และหญ้าแพรกต่อพระองค์” จากนั้นนำหมากพลู และหญ้าแพรกที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป
15. พิธีสโตรตรัมปูชา ถวายบทบูชาสรรเสริญ
สวดบทบูชาสรรเสริญต่างๆ เช่น
“โอม วักรตุนดะ มหากายา
สุริยะโกฏิ สมะประภา
นีระวิฆนัม กุรุเมเดวา
สรวะกา เยรชุ สรวะดา”
แปลว่า : ขอน้อมบูชาพระคเณศผู้ยิ่งใหญ่ องค์วักระตุน ผู้มีรัศมีเจิดจรัญส่องสว่างดังดวงอาทิตย์นับโกฏิดวง มีงวงอันคดโค้งอ่อนช่อย ผู้เป็นครู แห่งทวยเทพทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาในพระองค์
หรือ สวดบทย่อ 108 จบ
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”
16. พิธีอารตี สวดบูชาอารตี
หากสวดไม่ได้อาจเปิดยูทูป (Youtube) ค้นหา “ganpati aarti”
หรืออาจแค่วนไฟถวายพร้อมสวด “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”
การปฏิบัติสักการะ 16 ขั้นตอน เราสามารถ ปฏิบัติบูชาเช่นนี้ได้ตลอดในช่วงเทศกาลคเณศจตุรดี หรือหากไม่สะดวก อาจจะทำเท่าที่เราทำได้ เท่าที่เราสามารถจัดหาสิ่งของต่างๆได้ ขั้นตอนต่างๆ สามารถลดหรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำบูชา จะเห็นควร บางท่านอาจทำเต็มทุกๆขั้นตอนทุกวัน บางท่านอาจทำแค่วันแรก หรือวันสุดท้าย วันที่เหลือ อาจแค่ สวดมนต์บูชาถวายผลไม้ ขนมต่างๆ โดยไม่สรงน้ำ ก็แล้วแต่สะดวก (วันอื่นๆอาจตัดขั้นตอน ข้อ 2-9 ออก ทำแค่ 1 และ10-16 เป็นต้น)
ในวันสุดท้ายเมื่อทำบูชาเสร็จแล้วจึง อัญเชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้ง ถือเป็นการสิ้นสุดการบูชา ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรดี (ในตรงนี้คือ เราจะไม่รวมขั้นตอนส่งเสด็จ พิธีวิสาชันนะ ไม่ต้องนำไปลอยน้ำ แค่เชิญท่านกลับขึ้นหิ้งบูชาต่อได้เลย)
ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY