เปิดความเป็นมา วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไร และพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนอย่างไรในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นี้
ในปีนี้ วันมาฆบูชา ตรงกับ วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งถือว่าเป้นวันสำคัญทางศาสนาอีก 1 วัน จึงจัดให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชกาลของประทเศไทยอีกด้วย โดยวันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะพาทุกคนมาเปิดความเป็นมา วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไร และพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนอย่างไรในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นี้อีกด้วย
วันมาฆบูชา 2566
เดิมเรียก วันมาฆบูชา ว่า วันมาฆปุณณมี หมายถึง วันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวงในเดือนมาฆะ ตรงกับ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระพุทธเจ้าทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
ความเป็นมาวันมาฆบูชา
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ได้เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต
คำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ
- “จาตุร” แปลว่า 4
- “องค์” แปลว่า ส่วน
- “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม
ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” คือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
1.พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารโดยมิได้นัดหมาย
2.พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือ เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
3.พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่มาประชุม ล้วนเป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกองค์
4.ตรงกับวันที่พระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญเดือนมาฆะ

โอวาทปาฏิโมกข์ คืออะไร
โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์
(หันทะ มะยัง โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง (การไม่ทำบาปทั้งปวง)
กุสะลัสสูปะสัมปะทา (การทำกุศลให้ถึงพร้อม)
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง (การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ)
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง (ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา (ขันตี คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง)
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา (ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง)
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี (ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย)
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต (ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย)
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต (การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย)
ปาติโมกเข จะ สังวะโร (การสำรวมในปาฏิโมกข์)
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง (ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค)
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง (การนอนการนั่งในที่อันสงัด)
อะธิจิตเต จะ อาโยโค (ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง (ธรรม 6 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา คือ การทำบุญ ตักบาตร ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา และในช่วงเย็น-ค่ำ พุทธศาสนิกชนจะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY