น้ำเต้าหู้ หรือ นมถั่วเหลือง เป็นเครื่องดื่มซึ่งทำจากการบดถั่วเหลืองและนำไปต้มกรองจนเจือจางลง อาจปรุงด้วยน้ำตาลและอื่น ๆ เช่น ใส่สาคู ลูกเดือย ข้าวบาร์เลย์ ถั่วแดง วุ้น หรือธัญพืชชนิดอื่น ๆ ตามใจชอบ
หากดื่ม น้ำเต้าหู้ จะได้รับ โปรตีน จาก ถั่วเหลือง อีกทั้ง น้ำเต้าหู้มีเส้นใยธรรมชาติที่ดีต่อระบบการขับถ่าย และมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) หลังจากบริโภคน้ำเต้าหู้ ร่างกายจะเปลี่ยนสารเคมีชนิดนี้ให้เป็น สารไฟโตรเอสโตรเจน (Phytoestrogens) นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ในน้ำเต้าหู้รวมทั้งสารไอโซฟลาโวนอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ และอาจส่งผลทางการรักษาอาการป่วยบางประการได้
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำเต้าหู้
คุณประโยชน์ของน้ำเต้าหู้
1.ช่วยลดความอ้วน
มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าการบริโภคนมไขมันต่ำอย่างนมถั่วเหลืองปรุงแต่ง ช่วยลดความอ้วน ในกลุ่มตัวอย่างทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ
2.ช่วยบำรุงกระดูก
จากการทดลองเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของ นมถั่วเหลือง ที่มี สารไอโซฟลาโวน ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและกระบวนการสร้างหรือสลายกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนชาวสเปน พบว่าการบริโภคนมถั่วเหลืองช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดี และช่วยลดกระบวนการสลายกระดูก อีกทั้งการบริโภค สารไอโซฟลาโวน จากถั่วเหลือง อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ด้วย
3.ลดความดันโลหิต
การทดลองศึกษาประสิทธิผลของเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง พบว่าเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลืองอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตซิสโตลิกและไดแอสโตลิกลงได้ ซึ่งเป็นความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัว ในกลุ่มตัวอย่างเยาวชนเพศหญิงที่มีภาวะอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน อย่างไรก็ตาม ในการทดลองนี้ยังไม่พบผลลัพธ์ในด้านน้ำหนักตัวที่ลดลง หรือขนาดเส้นรอบเอวที่ลดลงแต่อย่างใด
4.ลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในเลือด และช่วยย่อยอาหาร
จากการค้นคว้า พบว่า การดื่มนม ทั้งนมถั่วเหลืองและนมวัวก่อนมื้ออาหาร 30 นาที จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้มากกว่าการดื่มพร้อมมื้ออาหาร ซึ่งวิธีการนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจากการบริโภคอาหารที่มีค่า GI สูง (Glycemic Index: ค่าดัชนีน้ำตาล) ซึ่งยังต้องค้นคว้าทดลองในด้านนี้ต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดและเป็นประโยชน์ในอนาคต
การดื่มน้ำเต้าหู้ดีหรือไม่ ?
แม้การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของ ถั่วเหลือง หรือมีโปรตีนจาก ถั่วเหลือง รวมถึง น้ำเต้าหู้จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ผู้บริโภคควรศึกษาปัจจัยทางสุขภาพของตนให้ดีก่อนว่าควรดื่มน้ำเต้าหู้หรือไม่ และควรดื่มในปริมาณมากน้อยเพียงใด อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองแต่ละชนิดล้วนมีโปรตีนและสารอาหารจาก ถั่วเหลือง ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เช่น ในน้ำเต้าหู้ 1 แก้ว อาจมีสารไอโซฟลาโวนประมาณ 30 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย เพื่อให้รับสารอาหารที่จะส่งเสริมสุขภาพได้อย่างครบถ้วน
สรุป
การดื่มน้ำเต้าหู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการปรุงรสต่างๆที่ไม่มากเกินไป อีกทั้งควรศึกษาปัจจัยทางสุขภาพของตนให้ดีว่าสามารถดื่ม น้ำเต้าหู้ ได้ในปริมาณเท่าใด
อ่านเพิ่มเติม >>> น้ำเต้าหู้มิกซ์เบอร์รี่สมูทตี้ : สูตรอาหารสุขภาพ <<<
อ่านเพิ่มเติม >>> “ปาท่องโก๋” มื้อเช้าแสนอร่อย แต่แฝงไปด้วยอันตราย <<<