อย่างที่เราทราบกันดีจากข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว กับงานวิจัยหนึ่งที่ยืนยันว่าสารเคมีหลายชนิดที่พบใน ‘ครีมกันแดด’ มีส่วนทำให้ ‘ปะการัง’ เสื่อมโทรมลง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกเปิดออกมาในช่วงที่กำลังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวระดับโลก ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับปะการังเป็นอย่างมาก ดังนั้นเหตุการณ์นี้จึงทำให้เราตระหนักว่าควรหันมาช่วยเหลือปะการังกันได้แล้ว โดยวิธีหนึ่งที่เราสามารถช่วยเหลือก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลือกใช้ ‘ครีมกันแดด’
นักวิจัยได้ประมาณว่าทุกปีมี ‘ครีมกันแดด’ มากถึง 14,000 ตัน ที่ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังมีครีมและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากเราชำระล้างร่างกาย คาดกันว่าอาจมีปะการังมากถึง 1 ใน 10 ของโลกที่กำลังถูกคุกคามด้วยสารเคมีเหล่านี้ เพราะแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญที่มีกิจกรรมของมนุษย์ โดยสารเคมี 4 ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาว คือ Oxybenzone Octinoxate 4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben ซึ่งตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว
ส่วนตัวที่ทำร้าย ‘ปะการัง’ ที่สุดเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตผิดรูป พิการ หรือตาย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก
บางคนอาจคิดว่าครีมกันแดดแค่นี้ไม่น่าจะทำลายทะเลกว้างใหญ่ขนาดนี้ได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็ คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด แค่ 1 หยดก็ส่งผลเทียบเท่าสระน้ำมาตรฐาน 6 สระแล้ว ดังนั้นเราควรหันมาเลือกใช้ ‘ครีมกันแดด’ โดยไม่ไปทำลายปะการัง ซึ่งวิธีเลือกก็ทำได้ง่ายเพียงแค่…
- ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ oxybenzone และสารเคมีอื่นข้างต้น
- ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะเกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่าแบบธรรมดา
- ใช้ครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (biodegradable) ไม่เกิดการตกค้างและสามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้
- ใช้ครีมกันแดดอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป
- อาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่ม เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดด
ทะเลนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่ใครหลายคนชื่นชอบ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกทำลายมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะปะการัง ดังนั้น เรามาช่วยต่อลมหายใจและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับปะการังกันเถอะ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้อยู่ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิโลกสีเขียว
บทความที่เกี่ยวข้อง