ไฟฟ้าดับไม่ใช่แค่โลกมืด แต่โลกมนุษย์คงวุ่นวาย เพราะทุกวันนี้ 24 ชั่วโมงของการดำรงชีวิตอยู่ล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งเพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไป เพราะไฟฟ้าเป็นพลังงานที่เกิดจากการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของ “ภาวะโลกร้อน” การช่วยประหยัดไฟจึงเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศอีกด้วย
เวลา 20.30 – 21.30 น.ของวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กทม.และหลาย ๆ พื้นที่ของไทยจึงตกอยู่ใน “ความมืด” เนื่องจากทุกคนต่างร่วมมือกันร่วม กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)” ภายใต้การนำของกรุงเทพมหานคร ที่เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่ บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การปิดไฟเพียงแค่ 1 ชั่วโมงจะช่วยโลกคลายร้อนลงได้อย่างไร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลว่า กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อนเริ่มขึ้นในปี 2550 หลังจากนั้นในปี 2551 กทม.จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรก และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 12 ปีแล้ว สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม 121 แห่ง ในเวลา 1 ชั่วโมงที่ปิดไฟลง พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 7,860,000 บาท ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,026 ตัน ซึ่งหากนับรวมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2551 – 2561 กิจกรรมนี้สามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้มาแล้ว 10,259 ตัน หรือคิดเป็นเงิน 64,780,000 บาท
“ส่วนปี 2562 กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019) ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดการใช้ไฟฟ้าไปได้ 1,514 เมกะวัตต์ ประหยัดค่าไฟได้ 6,050,021 บาท และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯได้ 749 ตัน”
สำหรับประเทศไทยมีองค์กรเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 262 แห่ง โดยสถานที่สำคัญที่ร่วมปิดไฟ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม8 และภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) รวมถึงองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนกว่า 500 แห่ง ร่วมกับบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เขตต่าง ๆ
เช่นเดียวกับ 188 ประเทศทั่วโลก ต่างก็จัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงลดโลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยที่ ฮ่องกง ตึกสูงที่ตั้งอยู่ใกล้อ่าววิคตอเรียต่างพร้อมใจกันปิดไฟตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีบริษัทเอกชนกว่า 3,000 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม ที่ ไต้หวัน อาคารไทเป 101 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงไทเปและเป็นอาคารสูงสุดของประเทศ ทันทีที่นาฬิกาบอกเวลา 20.30 น. ไฟฟ้าส่วนที่ไม่มีความจำเป็นของตึกดังกล่าว ก็ถูกปิดลงทันที ขณะที่ กรุงนิวเดลี อินเดีย ก็ดับไฟประดับประตูเมืองอินเดีย หรืออนุสรณ์แห่งสงครามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลา 20.30 น.ทันทีเช่นกัน

ส่วนในทวีปยุโรปสถานที่สำคัญของหลายประเทศต่างร่วมกิจกรรมปิดไฟ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ทั้งที่ หอไอเฟล กรุงปารีส ประตูชัยบรันเดนบูร์ก สัญลักษณ์ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี รวมถึงกรุงโรมในอิตาลี ต่างร่วมกันปิดไฟและจัดกิจกรรมรณรงค์การประหยัดพลังงานและต่อต้านภาวะโลกร้อนอย่างพร้อมเพรียงกัน

“กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อนฯ เป็นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยมีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ 1. ลดการใช้พลังงาน 2. ลดการใช้พลาสติก และ 3. รักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเราร่วมใจกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง หรือปิดทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมงจะสามารถช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดภาวะโลกร้อนได้” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวทิ้งท้าย
ประเทศไทย