รายงานพิเศษ : มองแรงเสียดทานลูกใหม่ ท้าทายรัฐนาวาในมือ “ประยุทธ์ 2”
จากเสียงพรรคร่วมรัฐบาลในสภาฯ ที่ยังหายใจรดต้นคอต่อความเป็นไปของ “พลังประชารัฐ” ถึงแม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเข้าป้ายได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จากเสียงในรัฐสภา 500 เสียง ต่อ 244 เสียงก็ตาม แต่อย่าลืมว่าการโหวตครั้งนี้มี 250 ส.ว.ที่ “คสช.” ปูทางไว้ให้ “ประยุทธ์” เป็นผู้นำประเทศ จะเป็นกำลังหลักเฉพาะภารกิจนี้เท่านั้น
เมื่อการพิจารณากฎหมายจากนี้จะอยู่ในอำนาจสภาผู้แทนราษฎร จากตัวเลขเสียงเห็นชอบ “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้นับรวม “กองหนุน” จาก ส.ว.ไปด้วย ทำให้เสียงส.ส.ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลถึงนาทีนี้ ยังคงอยู่ที่ 252-253 เสียง จะเป็นเสียง “ระดับปริ่มน้ำ” จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน โดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้านยังกุมตัวเลขในมือ 245 เสียง พร้อมจะคว่ำทุกร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาได้ทุกเมื่อ

ขณะที่สถานการณ์ความไม่ลงรอยของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต่อโควตารัฐมนตรี ยังเป็นแรงเสียดทานสำคัญให้ ส.ส.นำมาข่มขู่เพื่อต่อรองเก้าอี้ในกระทรวงสำคัญๆ อาจจะได้เห็นการโหวตสวนกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะเป็นกฎหมายสำคัญฉบับแรกที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้าไปพิจารณา หากขณะนั้น “ประยุทธ์” ยังคอนโทรลพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ จะสุ่มเสี่ยงต่อเกมจนแต้มในสภา จนสะเทือนไปถึงความมี “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล
ตอกย้ำไปถึงกระแสข่าวการแบ่งสรรโควตารัฐมนตรีที่ไม่ได้ข้อสรุป จะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย. เพราะสิ่งที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เคยบอกไว้ว่า อาจต้องยืดเวลาการทำงานของรัฐบาลชุดเดิมออกไปอีก หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่สามารถแถลงนโยบายได้ทัน แต่หากไปประชุมอาเซียนจนต้องลงนามเรื่องสำคัญต่างๆ ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายนั้น จะเป็นเป้าโดยวิจารณ์ได้ จึงแก้เกมโดยให้รัฐบาลชุดเดิมทำหน้าที่ไปก่อน

แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่ “ยกแรก” ที่ “ประยุทธ์” ต้องพบกับแรงเสียดทานการจัดระเบียบพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดเวลาการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะหากยังคุมเกมไม่ได้ทั้งหมด ความกดดันจะตกอยู่ที่ “พลังประชารัฐ” จะประสานรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาลได้แค่ไหน เพราะแรงกดดันจากหลายมุ้งภายในพรรคเอง พร้อมจะกระเพื่อมไปทุกครั้งที่มีการปรับ “ครม.”
เพราะใน “ยกที่สอง” ของครม.ชุดใหม่ จะรับกับกระแสกดดันทุกทิศทางพุ่งเป้ามาที่ “หัวหน้ารัฐบาล” ตั้งแต่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ผลงานตามที่พลังประชารัฐหาเสียงไว้ หรือศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ “ประยุทธ์” ต้องรับศึกหนักครั้งใหม่ตั้งแต่ยึดอำนาจมา 5 ปี โดยไม่มีดาบ “มาตรา 44” อยู่ในมือไว้คุ้มครอง โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน จะเดินคู่ขนานไปกับสังคมโซเชี่ยลมีเดียเพื่อตรวจสอบการทำงานทุกฝีก้าว
จะเป็น “ศึกใน” และ “ศึกนอก” ที่อดีตหัวหน้า คสช.เตรียมรับมือ ไปพร้อมกับความเขี้ยวลากดินของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อท้าทายเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “ประยุทธ์”

แรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาครั้งนี้ จะพิสูจน์ตัวตน “ประยุทธ์” คุมเกมอย่างไร ขีดเส้นใต้ไปที่บรรยากาศในสภาฯ จะเป็นเวทีสำคัญเพื่อรับแรงปะทะครั้งใหญ่ ถึงแม้จะเตรียมทีมองครักษ์พิทักษ์ไว้แล้วก็ตาม แต่เชื่อได้ว่าฝั่ง ส.ส. “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” จะเลือกเล่นบทวางเฉย เพื่อปล่อยให้ ส.ส.พลังประชารัฐ ออกมาเป็นกำแพงปกป้อง “ประยุทธ์” ด้วยตัวเอง มากกว่าจะลงไปเล่นเกมเดียวกัน

สุดท้ายแล้ว “ประยุทธ์” จะประคับประคอง “รัฐนาวา” แห่งนี้ไปถึงฝั่งได้แค่ไหน เมื่อยังมีปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองที่รายล้อม “ประยุทธ์” เตรียมบีบรัด “เสถียรภาพ” บริหารราชการแผ่นดิน ที่พร้อมถูกสั่นคลอนได้ทุกเมื่อ