วันนี้(13 ม.ค. 63) นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทานเข้าร่วมประชุมคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในระดับชุมชนและภูมิภาค และสถานการณ์ภัยแล้ง ประจำปี 2563 โดยมี พลเอก ศิวะ ภระมรทัต นายทหารปฏิบัติการพิเศษ/ราชองครักษ์ในพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ช่วยอำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราทาน เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน กรุงเทพมหานคร

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(12 ม.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 43,430 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ประมาณ 19,991 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 412 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 2,723 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,342 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำ- ขนาดเล็ก อีก 942 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 276 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การน้ำประมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้การได้ประมาณ 1,773 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งประเทศมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมประมาณ 46,429 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 24,272 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 นี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 17,699 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 6,379 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของแผนการใช้น้ำ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวช่วงฤดูแล้งปี 2562 ปัจจุบัน(8 ม.ค. 63) มีการเพาะปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 2.64 ล้านไร่ จากแผน 2.31 ล้านไร่
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จำเป็นต้องสงวนน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด สำรองไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดน้ำอย่างจริงจริงและใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า สำหรับพื้นที่ใดที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา