เศรษฐา หนุน! ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ผ่าน ครม. นำเข้าสภาพิจารณา 21 ธ.ค. สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวที่มี ความหลากหลายทางเพศ
วันที่ 19 ธันวาคม 2566 ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุ ครม.มีมติเห็นชอบเสนอร่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้รับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่… พ.ศ… ตามที่ได้มีการเสนอในที่ประชุมฯ เพื่อรองรับเรื่องสมรสเท่าเทียมเสนอต่อรัฐสภา โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านการรับฟังความเห็นชอบจากประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลยุติธรรม หลังจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมายเพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้บุคคลเพศเดียวกันหมั้น สมรส มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยกับสื่อหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้มีการโพสตืข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น X เกี่ยวกับ การร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่า “ผมเชื่อว่า ความรัก ไม่มีนิยามตายตัวครับ”
เราทุกคนมีสิทธิรักใครสักคนหนึ่งในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่งรักมนุษย์อีกคน’ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องใดทั้งสิ้น กฎหมายนี้จะทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้น และสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิงครับ

เรื่องสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่การทำให้ความรักของคนสองคนถูกกฎหมายนะครับ แต่เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ในการแต่งงานของคนรักกันที่ควรได้รับเหมือนกันทุกคน
วันนี้เรามีความก้าวหน้าไปอีกขั้น ในการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งจะบรรจุเข้าพิจารณาวาระที่ 1 วันที่ 21 ธ.ค.นี้แล้วครับ

นอกจากร่างที่ครม. เสนอ ยังมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดย สส. และร่างฉบับภาคประชาชน รวมสามฉบับ
1) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน : ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กรในนาม ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย ได้รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อแล้ว บรรจุวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ธันวาคม 2566 แล้ว

2) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล : เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 สส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเนื้อหาร่างเป็นฉบับเดียวกันกับที่เคยเสนอสภาชุดก่อนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ ก็ถูกบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน รอเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่ง
3) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม เสนอโดย ครม. : ฟากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์