วันนี้ (22 ก.ย. 66) นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน Facebook Dr.Pichit Chuenban ถึง ทิศทางการยกเลิกประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ที่ยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน โดยมีเนื้อหา 5 หน้ากระดาษ A4
เนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุว่า โดยแนวทางการพิจารณาทบทวนถึงความจำเป็น ความเหมาะสมของประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว สามารถใช้แนวทางตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 30/2563 เรื่อง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29 หรือไม่ มาเป็นหลักเกณฑ์ได้
โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการที่สำคัญประการหนึ่งว่า “การพิจารณากฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้นั้นย่อมต้องพิจารณาสภาพการณ์ของเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในขณะที่มีการตรากฎหมายและในขณะที่ใช้บังคับกฎหมายประกอบกัน ทั้งนี้เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้”
ขณะเดียวกัน นายพิชิต ยังระบุอีกว่า กล่าวโดยสรุป การที่คณะรัฐมนตรีมีแนวทางที่จะทบทวนประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าคณะรักษาความรักษาความสงบแห่งชาติที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบันที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ โดยหลักการแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดี และมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว เพราะ
1) รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือการ
ประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
2) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
3) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วรรคแรก ตอนท้าย “…การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศ หรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : บทความเรื่องทิศทางการยกเลิกการประกาศ หรือ คำสั่ง คสช.
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY