รายงานพิเศษ : มอง “สัญญาณ” อันตราย ปลุกไฟความขัดแย้ง พันธนาการอนาคตประเทศ
“วันนี้อยากให้ทุกคนมีความสุขบ้าง ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกันในหลายเรื่องแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่มีปัญหาในเรื่องการเมือง ขอให้รอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศผลอย่างเป็นทางการ“
ประโยคที่ดังชัดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาคสามสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายเร่ง “จุดเดือด” ทางการเมืองให้กลับมาปะทุ หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.อีกครั้ง

โดยเฉพาะซุ่มเสียงจาก “บิ๊กแดง“ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่คาดว่าส่งตรงไปถึง “ปิยบุตรแสงกนกกุล” กับ Hate Speech ที่สะเทือนไปทั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นแรงสะเทือนเดียวกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” โดนมรสุมเรื่องการตรวจสอบการ “โอนหุ้น“ รวมถึงเรื่องคดี “ม.116″ ด้วย
- แรงเสียดทานต่อ “อนาคตใหม่”
สำหรับแรงปะทะที่เกิดขึ้นในช่วงพรรคอนาคตใหม่ รอผลการนับคะแนนจาก “กกต.” ภายในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งทุกคะแนนเสียงจะมีผลต่อ “ความเป็นไป“ ของอนาคตใหม่ด้วยนั้น ขีดเส้นใต้ไปที่ “คดีความ” ที่ติดตัวทั้ง “ธนาธร–ปิยบุตร” เป็นพันธนาการที่มีผลต่อการนับ 1 ก้าวสู้สภาในฐานะพรรคการเมืองที่มีจุดยืนไม่เอา “ประยุทธ์“ เพราะหมายถึงเสียงจาก “อนาคตใหม่” จะเป็นอีกขั้วการเมืองที่รวมกับพรรค “เพื่อไทย“ เพื่อเร่งเกมรวมคะแนนเพื่อ “ชิง” การตั้งรัฐบาลแข่งกับ “พลังประชารัฐ” ในช่วงคะแนนเสียงของทั้ง 2 ขั้วอยู่ในภาวะหายใจรดต้นคอเมื่อ 2 ขั้วพรรคการเมืองยังรอการตัดสินใจ “ครั้งสุดท้าย” ในปีก “ภูมิใจไทย–ประชาธิปัตย์” จะเลือกสวิงเสียงไปร่วมกับพรรคใด เพราะทุกการตัดสินใจครั้งนี้จะมีผลต่อการตีตรา “จุดยืน” ของทั้ง 2 พรรคในระยะยาวทั้งสิ้น

- คำถามถึงจุดยืน “ธนาธร-ปิยบุตร”
แต่ระหว่างนี้ได้เห็น “สัญญาณ” ที่แข็งกร้าวจากมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายที่ออกมา “เปิดศึก“ ในโซเชียลมีเดียเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยที่อนาคตใหม่โดน “สกรัม“ จากคสช.ต่อหัวขบวน “ธนาธร–ปิยบุตร” จนแนวร่วมอนาคตใหม่เชื่อว่าเป็นเกม “เตะสกัด” เข้าสภา เพราะจากคำพูดของ“บิ๊กแดง” ในฐานะผู้กุมกำลังหลักฝ่ายทหาร ได้ส่งน้ำหนักไปถึง “ชุดความคิด“ ของสังคมในแต่ละรุ่นส่งคำถามไปถึง “อนาคตใหม่“ ต่อจุดยืนที่มีต่อสถานบันสูงสุดของประเทศ
ทำให้ฝั่งอนาคตใหม่ออกมาตอบโต้การถูก “ยัดเยียด” คดีความให้ตัว “ธนาธร–ปิยบุตร“ ด้วยวิถีการเมืองแบบเก่าที่นำสถาบัน มาเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อโจมตีทางการเมือง แต่ด้วยฝ่ายความมั่นคงยังเกาะติดการเคลื่อนไหวของ “อนาคตใหม่” มีเป้าหมายสำคัญไปที่เรื่องใด ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในประเด็นที่ละเอียดอ่อนลักษณะนี้ จะถูกปลุกอารมณ์ของคนในสังคมให้กลับมาปะทุอีกได้เสมอ หากมองย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 “ชนวน” ความขัดแย้งของคนในสังคม ส่วนหนึ่งก็ไม่พ้นประเด็นข้อกล่าวหาเหล่านี้
- สงครามวาทกรรม-Fake News
ขณะที่บรรยากาศในสังคมออนไลน์ ได้เร่งสถานการณ์ให้จุดไฟได้ง่ายกว่าเดิม จาก “วาทกรรม” ที่หลายฝ่ายปล่อยออกมารวมถึงสงครามข่าว “Fake News” ที่เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความการเกลียดชัง “ผู้เห็นต่าง” อย่างเข้ากระดูก กลายเป็นสถานการณ์เดียวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ 2516 จนถึงเหตุการพฤษภา 2535

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการต่อต้าน “สืบทอดอำนาจ” คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ที่มีพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บิดา “บิ๊กแดง” เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งไปถูกเทียบเคียงกับรัฐบาลคสช. ต่อท่าทีสืบทอดอำนาจ ผ่านกลไกและบุคคลในองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้น ท่ามกลางข้อ“ครหา” เตรียมสืบทอดอำนาจเช่นกัน
- ตัดชนวนความขัดแย้ง
ระหว่างนี้จนถึง 9 พ.ค. จะเป็นช่วง “รอยต่อ“ ระหว่างอำนาจ คสช. และผลการเลือกตั้งที่กกต. จะประกาศออกมา เพราะทุกความเคลื่อนไหวจากนี้ จะเป็นจิ๊กซอว์ที่ถูกต่อให้เห็นภาพทั้งหมด เพราะเมื่อ “สัญญาณ” ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ เริ่มถูกก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสัญญาณอันตรายที่คนในสังคมและผู้ที่มีอำนาจ ต้องช่วยกันประคับประคอง และ “ถอดชนวน” ไม่ให้สถานการณ์กลับมาสุ่มเสียงรุนแรงอีกครั้ง
ถึงแม้ “เดิมพัน” ครั้งนี้จะสูงกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ปลายทางของประเทศต้องไม่ถูกตอกหมุดเป็น “ตัวประกัน” ไม่ว่าจะถูกกำหนดด้วยขั้วการเมืองไหนก็ตาม เพื่อปลดล็อค “ทางตัน” ความขัดแย้งที่เริ่มสะสมเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ที่มีปลายทางน่ากลัวอย่างยิ่ง