ฝ่ายนายจ้าง ชี้ ค่าแรงขั้นต่ำ67 ไม่มีเหตุผลต้องทบทวนมติ ยืนยัน คำนวณตามสูตร ที่ขึ้นให้ไม่น้อยแล้ว ที่ผ่านมาเราให้มากกว่าสูตรทุกครั้ง
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 กรณี ค่าแรงขั้นต่ำ 2567 นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ทบทวนมติค่าจ้างขั้นต่ำจากการประชุมของไตรภาคีแรงงาน หรือ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ (8 ธ.ค. 66) ที่ผ่านมา ต่อมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้นำมติดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ (12 ธ.ค. 66) และนำมติกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
ต่อมา นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เตรียมประสานคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อทบทวนมติค่าจ้างขั้นตที่มีมติไปแล้วในการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ (8 ธ.ค. 66) ที่ผ่านมา จากนั้นจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งในวันที่ (20 ธ.ค. 66) นี้ เพื่อให้มีข้อสรุปและประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ทั้งนี้ นายอรรถยุทธ ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการทบทวนอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากการประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ (8 ธ.ค. 66) ที่ผ่านมานั้น มีมติเป็นเอกฉันท์ และการคำนวณอัตราค่าจ้างนั้นเป็นไปตามระเบียบกฎหมายทุกประการ
- ธนกร-รทสช. ซัด ก้าวไกล อย่าดีแต่ ผลิตวาทกรรมดิสเครดิตรัฐบาล
- รัฐบาลโชว์ผลงาน 90 วัน ภายใต้ผู้นำ นายก เศรษฐา เผยทำอะไรบ้าง?
- สว.วันชัย ตั้งข้อสังเกตุ เศรษฐา ลาพักร้อนใกล้วันครบรอบ ทักษิณนอน รพ.
นายอรรถยุทธ กล่าวอีกว่า “หากจะทบทวน สามารถทำได้ในกรณีที่เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงขึ้นกะทันหัน 2 หรือ 5% แบบนี้เราทบทวนใหม่ได้ แต่มติที่เกิดขึ้นในวันที่ (8 ธ.ค. 66) นั้น เป็นการทำตามกติกาอย่างครบถ้วน ซึ่งมีการนำเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมาคำนวณหมดแล้ว”
ทั้งนี้ เรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดน้อยเกินไปหรือไม่นั้น นายอรรถยุทธ กล่าวว่า ต้องถามว่าน้อยอย่างไร เนื่องจากการคำนวณก็ใช้สูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นไปตามกติกาในกฎหมายมาตรา 87 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทุกอย่าง ซึ่งมีการคิดอย่างรอบคอบแล้ว จึงมีการเสนอให้ ครม. รับทราบ ที่ผ่านมาเราให้มากกว่าอัตราที่คำนวณตามสูตรทุกครั้ง ดังนั้น ถ้ามีการปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่นายจ้างรับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่รู้จะปรับขึ้นอย่างไรแล้ว