หลังจับหัวเชื้อน้ำมันเครื่องหรือสารเคลือบเครื่องยนต์ที่กำลังเป็นประเด็นในโลกออนไลน์มาทดสอบร่วมกับยี่ห้ออื่นๆในตลาดทั้งสิ้น 3 แบรนด์ ล่าสุด อาจารย์อ๊อด รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ นักเคมีอินทรีย์ชื่อดังไลฟ์สดเปิดเผยผลการทดสอบพร้อมเครียร์ประเด็นใช้แล้ว “เครื่องยนต์พัง” จริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 60 เวลาประมาณ 21.30 น. อาจารย์อ๊อด รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ภาควิชาเคมีคณะศิลปศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ทำการไลฟ์สดเปิดเผยผลการทดสอบสารเคลือบในท้องตลาด 3 ยี่ห้อ โดยขอไม่เปิดเผยชื่อยี่ห้อเนื่องจากเหตุผลด้านกฎหมาย
ผลการทดสอบพบว่าส่วนประกอบหลักของสารเคลือบเครื่องยนต์ 3 ยี่ห้อมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน คือเป็น Chlorinated Paraffin หรือ น้ำมันพาราฟิน ที่มีอะตอมของคลอรีนปะปนอยู่ ถือว่าไม่ใช่น้ำมันแต่จัดอยู่ในกลุ่มน้ำมันพืช และก็เป็นสาเหตุว่าทำไมตัวสินค้าไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน
คุณสมบัติของน้ำมันพาราฟินนั้น จะมีจุดเดือดอยู่ที่ 200 – 500 องศาเซลเซียส เป็นสารที่ใช้เคลือบโลหะ ลดแรงเสียดทานของโลหะ นำไปใช้เคลือบลูกสูบให้หล่อลื่นได้ดี ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกาวอีพ็อกซี่ เรซิน แต่ไม่เคยมีรายงานว่าถูกนำมาใช้ทำน้ำมันเครื่อง เพราะจากคุณสมบัติของน้ำมันพาราฟินนี้ เมื่อใช้แรกๆจะทำให้ลื่น ผ่านไประยะหนึ่งเครื่องจะพัง เพราะในห้องเครื่องนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 500-1000 องศาเซลเซียส สารจะระเหยกลายเป็นเขม่า เนื่องจากเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เครื่องยนต์น็อคหรือพังได้
ส่วนอะตอมของคลอรีนที่ผสมอยู่นั้น เมื่อเจอความร้อนสูง จะเกิดแตกตัวไปรวมกับไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดก๊าซไฮโดรคลอริก หรือ กรดเกลือ ซึ่งจะทำให้ชาร์ป หรือ ปะเก็นนั้นถูกกัดจนพังในที่สุด และในช่วงท้ายอาจารย์อ๊อดยังฝากถึงหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาดูแลผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพราะถือเป็นสารอันตรายต่อเครื่องยนต์ไม่ควรละเลยปล่อยให้ขายต่อไป
ผลการวิเคราะห์หัวเชื้อน้ำมันเครื่องหลายยี่ห้อ
โพสต์โดย Weerachai Phutdhawong เมื่อ วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017