ผลชันสูตรพะยูนภูเก็ตชี้! ตายจากอาการป่วยและบาดแผล พบถุงพลาสติกในกระเพาะ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างรุนแรง
หลังจากเหตุสลดเมื่อเช้าของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้น ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้านบางโรง ว่าพบซากพะยูนเกยตื้น บริเวณในคลองทางเข้าท่าเรือบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงได้เข้าไปยังที่เกิดเหตุและช่วยกันขนซากพะยูนที่โดนตัดหัวขึ้นฝั่ง ไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตนั้น
ล่าสุดเฟซบุ๊กเพจ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ขอรายงานผลการชันสูตรซากพะยูนเกยตื้น บริเวณในคลองทางเข้าท่าเรือบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จากการตรวจสอบพบพะยูน (Dugong dugon) อยู่ในช่วงโตเต็มวัย เพศผู้ ความยาวลำตัว 223 ซม. ไม่รวมส่วนหัว น้ำหนักประมาณ 250 กก. สภาพซากเน่ามาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับผอม (BCS 2/5) และพบเชือกรัดบริเวณโคนหางซึ่งตรวจสอบรอยรัดพบหลังการตาย ทำการตรวจร่างกายภายนอกบริเวณด้านหลังพบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงขนาด 1 ซม. เกาะตามร่างกายซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพะยูนเริ่มมีการเคลื่อนไหวน้อยลง

รอยแผลถลอกโดยรอบร่างกาย และพบรอยจากของมีคมตัดโดยรอบส่วนคอ และส่วนหัวหายไปโดยตัดขาดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก ซึ่งคาดว่ารอยแผลดังกล่าวเกิดหลังการตาย และพบรอยรัดลึกบริเวณครีบข้างทั้งสองด้าน บริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังส่วนท้ายลำตัวพบรอยช้ำ ส่วนของอวัยวะภายในมีสภาพเน่ามาก ส่วนของทางเดินหายใจไม่พบของเหลวคั่งและไม่พบรอยโรค ส่วนของทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารพบหญ้าทะเลอัดแน่น พบถุงพลาสติกอ่อน 1 ชิ้นปนอยู่ในหญ้าทะเล และพบพยาธิตัวกลมจำนวน 632 ตัว พบอาหารอยู่ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่


สรุปสาเหตุการตายคาดว่าพะยูนเริ่มมีอาการป่วยเนื่องด้วยสภาพร่างกายที่มีความผอมทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และการพบรอยพันรัด รอยช้ำของกล้ามเนื้อซึ่งอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตลงแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป”