“เขาไม่ได้ทิ้งอะไรให้ดูต่างหน้า และไม่ได้ฝากของขวัญอะไรไว้ให้ลูกหรอกค่ะ ก็เขาคงไม่รู้ว่าวันนึงเค้าจะไม่อยู่กับเรา”
คำพูดของพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ในวันครบรอบการหายไป 4 ปีของเขา
คนหายไปทั้งคน ทำไมถึงหาไม่เจอ
เรื่องราวการหายตัวไปของ “บิลลี่” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางครอบครัวรักจงเจริญ และชาวบ้านบางกลอยติดตามและพยายามผลักดันให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเสมอมา จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จนในที่สุดการรอคอยก็สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าหน้าที่พบชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็น “บิลลี่” ถูกฆ่าอำพรางด้วยวิธีที่เกินกว่ามนุษย์จะทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้

เหตุการณ์สุดท้ายก่อนที่นาย “พอละจี” จะหายตัวไปเป็นเวลากว่า 5 ปี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัว นาย “พอละจี” พร้อมรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดีภายในวันนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามภรรยาของนายพอละจี และญาติ เชื่อว่านายพอละจีไม่มีทางที่จะพลัดหลงกลับบ้านไม่ถูกแน่ เพราะเส้นทางนั้นเป็นเส้นทางที่คุ้นเคยของบิลลี่เอง แต่คิดว่าน่าจะเกิดการลักพาตัว
สืบเนื่องจากก่อนหน้าที่บิลลี่จะหายตัวไป เขากำลังจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชนบางกลอย ทั้งแผนที่ทำมือจากความทรงจำของปู่คออี้ ประวัติแต่ละครอบครัว ตลอดจนการเขียนหนังสือถวายฎีกา
คดีการหายตัวไปอย่างปริศนาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จัดเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
คำตอบที่แสนเจ็บปวด กับการรอคอยที่สิ้นสุดลง
จนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน 2562 และเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำ และนักประดาน้ำ ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน
ในที่เกิดเหตุพบชิ้นส่วนกระดูก จำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้น จำนวน 2 เส้น ถ่านไม้ จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้นจึงได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์และได้ผลว่า
“วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส”
คำตอบสุดท้ายของการหายไปอย่างไร้ร่องรอย คือวัตถุที่ตรวจพบตรงกันกับสารพันธุกรรมของนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี่ รักจงเจริญ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้มีการตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจานเพิ่มเติม และพบเป็นชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ
ถ้าวันนั้นไม่ลุกขึ้นสู้ ตอนจบอาจจะไม่เป็นแบบวันนี้
ย้อนกลับในปี พ.ศ. 2539 กรมป่าไม้(เดิม) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 29 และจังหวัดเพชรบุรี ได้อพยพชาวบ้านบางกลอยที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ให้ไปอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ตรงข้ามบ้านโป่งลึก (หรือเรียกบ้านบางกลอยล่าง) รวมทั้งหมด 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน
ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ได้มีการอพยพ/ผลักดันเพิ่มเติม
โดยผลปฏิบัติงานเป็นไปดังนี้
1. ตรวจยึด/จับกุมดำเนินคดีได้ 1 คดี จับกุมชาย 1 คนชื่อนายหน่อเอะ มีมิ
2.เผาทำลายเพิงพัก สิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้น 98 หลัง
3.ถอนทำลายกัญชาที่ปลูกแซมในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่
การปฏิบัติงานครั้งนี้สืบเนื่องมาจากรายงานพบว่าการบุกรุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่เลื่อนลอยเพื่อเข้ามาปลูกข้าว พริก เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณสะสมเสบียงสนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ
“พวกเราชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน ได้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย มาหลายๆรุ่น อยู่มานานหลายร้อยปี พวกเราดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการทำไร่ข้าวหมุนเวียนใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน ไม่เดือดร้อน ลำบาก ต่อมาถึงปี 2524 ทางการได้ประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจาน รวมทั้งบ้านใจแป่นดิน บ้านบางกลอยบน เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยที่พวกเราไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอก พอถึงปี 2539 เจ้าหน้าที่ได้บังคับให้พวกเราลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง หมู่บ้านปัจจุบัน โดยจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 7-8 ไร่ และบอกว่าจะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินเป็นเวลา 3 ปี แต่ก็มีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งไม่ยอมลง ยังคงอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม”
ข้อความส่วนหนึ่งจากฎีกาที่นางมือนอ ภรรยานายบิลลี่และชาวบ้านได้ร่วมกันลงชื่อ และจะถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พี่น้องได้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม โดยเริ่มแรกฎีกาฉบับนี้นายบิลลี่ถือว่าเป็นตัวตั้งที่จะร่างขึ้นมา แต่เมื่อเขาหายไป ภรรยาและชาวบ้านจึงลงมือสานต่อ

เมื่อบ้านเป็นแค่ที่ซุกหัวนอน การพลัดพรากจึงตามมา
“ในการจัดพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านนั้น เจ้าหน้าที่ได้ไปเอาพื้นที่ทำกินบ้านโป่งลึกมาจัดสรรให้ ทำให้พื้นที่ทำกินแต่เดิมของชาวบ้านโป่งลึกไม่เพียงพอแต่ละครอบครัว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่สบายใจแก่ชาวบ้านโป่งลึกเพราะจะไม่มีพื้นที่ให้กับลูกหลายตนเองในอนาคต และเจ้าหน้าที่ไม่จัดสรรที่ดินให้ครบทุกครอบครัว พื้นที่ทำกินที่เจ้าหน้าที่จัดให้นั้น บางแห่งก็ไม่เหมาะกับการทำไร่ข้าวเพราะมีหินมาก”
ฎีกาที่นางมือนอ ภรรยานายบิลลี่และชาวบ้านได้ร่วมกันลงชื่อ
ปัญหาหลักๆที่ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องการทำเกษตรที่ไม่สอดคล้องกับสภาพ พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรนั้นอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ปัญหาความแออัดเรื่องที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายครอบครัว พ่อแม่ต้องทิ้งลูกน้อยไว้กับคนชราที่บ้าน คนหนุ่มสาวต้องทิ้งงานไร่งานสวน ละทิ้งซึ่งวิถีชีวิตแบบเดิม ลงมาเป็นลูกจ้างชั่วคราวราคาถูกบนพื้นราบ
คนกับป่า โล่รางวัลกับการขับไล่
มีเอกสารหลักฐานทั้งพยานบุคคลและงานเขียนมากมายที่ระบุถึงหมู่บ้านบางกลอยและบ้านใจแผ่นดินว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ร่วมกันมานานนับร้อยๆปี

ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ชาวบ้านทุกคนต่างก็อาศัยเคารพและดูแลผืนป่าอย่างดีเสมอ เพราะป่าผืนนี้คือ “บ้าน” ของพวกเขาถ้าเขาไม่ดูแลบ้านที่อยู่ แล้วจะมีที่อยู่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่นขนาดนี้อย่างไร
“การประกาศเขตมรดกโลกไม่มีส่วนสำคัญใดๆ เลย เป็นเหมือนโล่รางวัลอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว การรักษาขึ้นอยู่กับความสามารถจัดการพื้นที่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ซึ่งทุกชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ฯ มีการละเมิดกฎกันน้อยมาก 1 ปีมีราว 2 คดีเท่านั้น”
นายวีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ (ด้านตะวันตก) เคยกล่าวไว้ในขณะที่ป่าทุ่งใหญ่ฯได้กลายเป็นต้นแบบมรดกโลก
ที่มาข้อมูล
สำนักข่าวชายขอบ
ไทยรัฐ ออนไลน์
ที่มารูปภาพ
สำนักข่าวชายขอบ
อ่านข่าว Bright Today