เหมยขาบ บนยอดดอยสัญญาณของฤดูหนาวที่กำลังเข้ามาเยือน เหมือน หรือ แตกต่างอย่างไรกับ แม่คะนิ้ง และ น้ำค้างแข็ง ไปทำความรู้จักกัน

เหมยขาบ ไม่ใช้ น้ำค้างแข็ง ทั้งนี้เพราะเหมยขาบจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศชื้นใกล้ผิวดินที่มีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ไอน้ำในอากาศจะกลายเป็นน้ำแข็งทันทีโดยไม่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำก่อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hoar Frost มี 2 แบบ
- ฮอร์ฟรอสต์พร็อปเพอร์ (hoar frost proper) เกิดใกล้ผิวพื้นดินและผิวที่เกิดมักวางตัวในแนวระดับ รูปร่างผลึกน้ำแข็งอาจมีเป็นเกล็ด เข็มหรือพัด
- แอดเวกชันฮอร์ฟรอสต์ (advection hoar frost) เกิดจากอากาศชื้นเคลื่อนที่เข้าปะทะกับผิววัตถุซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ส่วน น้ำค้างแข็ง (Frozen dew) เกิดเมื่อไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำค้างแล้ว จึงแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็งในภายหลัง เมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง 0 องศาเซลเซียส ทางองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เรียกว่า white dew
ซึ่งทั้งน้ำค้างแข็ง เหมยขาบ แม่คะนิ้ง นั้นต่างจาก “หิมะ” ตรงที่หิมะนั้นเกิดขึ้นในเขตภูมิอากาศอบอุ่น และหนาวเย็นของโลก โดยไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งเมื่อพบความหนาวเย็นในอากาศ แล้วจึงโปรยปรายลงมาจากเบื้องบน
ส่วนเหมยขาบ หรือแม่คะนิ้ง นั้นเป็นไอน้ำบริเวณพื้นดิน หรือหยดน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบหญ้า หรือวัตถุต่างๆ เมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ทางอีสาน จะเรียกว่า แม่คะนิ้ง ส่วนทางเหนือจะเรียกว่า เหมยขาบ ตาม ภาษาล้านนาทั้งนี้พจนานุกรมภาษาล้านนาระบุว่า “เหมย” แปลว่า “น้ำค้าง”

ขอบคุณข้อมูล เหมยขาบ แม่คะนิ้ง น้ำค้างแข็ง นั้นต่างกันไหม?