วันนี้ 7 ธ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน และยื่นฟ้องเป็นคดีฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
ในหนังสือระบุว่า เนื่องจาก พลเอกประวิตร ให้สัมภาษณ์ระบุว่า “แหวนทองคำขาวหัวเพชรเป็นของเดิมที่เคยใส่มาอยู่แล้ว นาฬิกาก็ของเดิม” เป็นการยอมรับ และชี้ให้เห็นว่านาฬิกา และแหวนเพชรดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ แต่กลับไม่ปรากฏในรายการที่แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และเห็นว่ามีประเด็นที่อาจเข้าข่าย “การร่ำรวยผิดปกติ” ตามมาตรา 66 อีกด้วย เนื่องจากตามเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช. นั้น มีบัญชีเงินฝากในธนาคารมากถึงกว่า 53 ล้านบาท ซึ่งรวมทรัพย์สินอื่นๆ แล้วมีมูลค่ามากกว่า 87 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏที่มาของเงินในบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งหากประมาณการจากการที่ พล.อ.ประวิตร รับราชการทหารมาประมาณ 40ปี เป็นนักการเมืองมา 2 สมัย และไม่ได้มีธุรกิจใดๆ เลยนั้นก็ไม่น่าที่จะมีรายได้มากมายถึงขนาดนี้
อีกทั้งมีพิรุธจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินรวมสี่ครั้ง ตั้งแต่ครั้งรับตำแหน่งรมว.กลาโหมในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง เมื่อพ้นจากตำแหน่งหนึ่งปี และยื่นล่าสุดในรัฐบาลคสช. ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามลำดับคือ ครั้งแรก 56 ล้าน ต่อมาเพิ่มเป็น 69 ล้าน 79 ล้านและ 87 ล้านตามลำดับ จึงขอให้ป.ป.ช.ทำการไต่สวนและหากพบความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุด เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ กรณีที่ ป.ป.ช.เคยวางบรรทัดฐานมาแล้ว เช่น กรณีคดีซุกหุ้นนายทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นต้น ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของ ป.ป.ช.ด้วยว่ามีศักยภาพหรือไม่
‘พล.อ.ประวิตร’ ยกเลิกหมายงานที่ทำเนียบ
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า ในวันนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ได้นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ โดยมีวาระการประชุมที่ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมเพื่อแจ้ง และขอมติที่ประชุมว่าทาง ป.ป.ช.จะให้สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช.รองรับอยู่ แล้วว่าสามารถหยิบยกขึ้นตรวจสอบได้โดยที่ไม่มีผู้ร้องก็ตาม.