ไข้เลือดออกระบาด! พบมีผู้ป่วยในพื้นที่อุบลราชธานี และอีสานใต้ จำนวนมากกว่า 500 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย แพทย์เตือนผู้มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงสูง ชี้ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัน
นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า หลังพบมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ติดสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของปีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าจะมีการระบาดมากกว่าปกติ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงเปิดศูนย์ติดตามสถานการณ์ และควบคุมการระบาดได้ทันที เมื่อพบมีการระบาดขึ้น
ซึ่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่10 ในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 14 พฤษภาคมปีนี้ จำนวน 551 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุระหว่าง 8-12 ปี แบ่งเป็นชาย 2 หญิง 1 คน ส่วนอัตราการป่วยเป็นเพศชายมากกว่าผู้หญิง มีอายุระหว่าง 10-14 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคมถึง 2 ราย
สำหรับข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 11,704 ราย เสียชีวิต 16 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ มีโรคประจำตัว ได้แก่ ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงขอแนะนำให้ผู้มีโรคประจำตัวดังกล่าว ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ด้วยวิธีการนี้ จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ โดยถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการรักษาช้า เป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนและทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422