ทำความรู้จัก Burnout Syndrome อาการของคน หมดไฟ เบื่องาน เครียดจากงานที่มากเกินไป พร้อมวิธีการรับมือ “ภาวะหมดไฟ”
วัยเรียน วัยทำงาน ไม่ว่าจะวัยไหนก็ต้องเจอกับปัญหานี้กันแน่ๆ “ภาวะหมดไฟ” หรือ “Burnout Syndrome” เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี

องค์การอนามัยโลก ได้ให้อาการหลัก 3 อาการ คือ
- รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
- มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ
- ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ และ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน
ผลเสียในด้านต่างๆ
1. ผลด้านร่างกาย อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
2. ผลด้านจิตใจ บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง/ฝันร้าย อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์
3. ผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
วิธีการรักษาและป้องกัน
1. การขอความช่วยเหลือ การพูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาหารือคนที่อาจช่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว
2. การพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกงานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ทั้งช่วงพัก พักทานอาหารกลางวันและช่วงนอกเวลางาน ในขณะเดียวกันให้ลดการพบปะสังสรรค์พูดคุย กับคนที่ทำให้รู้สึกแย่หรือเป็นลบ
3. การเข้าร่วมกลุ่ม ที่อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนใหม่ด้วย ทั้งนี้ การเป็นผู้ให้หรือช่วยเหลือผู้อื่น จะมีส่วนช่วยให้เกิดความปลื้มใจและช่วยลดความเครียด แถมยังช่วยให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้นด้วย
4. การปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่ทำ มองหาคุณค่าในงานที่ทำ พยายามทำให้งานและชีวิตอื่น ๆ มีความสมดุล
5. การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยลดความเครียดในการทำงาน และได้ความช่วยเหลือ มีโอกาสทำงานได้ผลดีขึ้น และผ่านเวลาที่ยากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น
6. หยุดพักบ้าง พักร้อนบ้าง พาตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น
การทำงานหนักหรือการเอางานเก็บมาคิดไว้ตลอดเวลาไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป เราควรแบ่งเวลาเพื่อตัวเองด้วย หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง แบ่งเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้ได้ ถ้าใครลองทำตามวิธีด้านบนแล้วรู้สึกไม่ดีขึ้นควรเริ่มที่จะปรึกษาหรือพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและได้รักตัวเองมากขึ้น
แหล่งที่มา ราชวิถี
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY