ช่วงหน้าฝน พายุเข้า ฝนตกหนัก ฝนฟ้าคะนอง ยุงชุม ต้องระวังโรค ไข้เลือดออก ถ้าเป็นแล้วต้องดูแลตัวเองยังไง มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
โรคที่ต้องระวังในทุกหน้าฝน ฝนตกหนัก พายุเข้า นั่นก็คือ โรคไข้เลือดออก นั้นเอง เพราะช่วงฝนตกทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์อย่างเช่น ยุง มากขึ้นและยุงก็คือตัวพาหนะนำโรคไข้เลือดออกนั้นเอง โดยลักษณะของโรคที่สำคัญคือ มีไข้สูง มีอาการเลือดออก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงต้องมีการ ติดตาม เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดภาวะช็อก

อาการของไข้เลือดออกได้เป็น 3 ระยะ
1.ระยะแรก
สำหรับระยะแรกนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
2.ระยะวิกฤต
ระยะนี้เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
3.ระยะฟื้นตัว
ในระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน
ข้อแนะนำในการดูแลไข้เลือดออก
- เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงค่อยประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ
- ดื่มน้ำมาก ๆ โดยในรายที่อาเจียนแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียและให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
- ให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen
- ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มีเลือดออกรุนแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ซึมลงและไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันไข้เลือดออก
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาอาการไข้เลือดได้โดยตรง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดนั่นเอง ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ดังนี้
- ป้องกันตัวเอง สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้งหรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว
- กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน
- ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย
- วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ซึ่งจะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า
แหล่งที่มา สสส
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY