เหล่าออฟฟิศซินโดรมต้องรู้! การวางมือที่ถูกต้อง เมื่อใช้ แป้นพิมพ์ หรือ เมาส์ ให้อยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมป้องกันอาการ ปวดมือ ปวดคอ บ่า ไหล่
ชาวพนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา ใครก็ตามที่อยู่กับหน้าคอม หน้าโน๊ตบุ๊ค และต้องนั่งทำงานนานๆ วันละ 8-9 ชั่วโมง แน่นอนว่าอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง สารพัดปวด ถามหาแน่ ที่เรามีอาการปวดอยู่แบบนี้เป็นเพราะการนั่งทำงานนานๆ ไม่ได้เปลี่ยนท่าทาง และนอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุนั้นก็คือ การวางมือตำแหน่งจอ แป้มพิมพ์หรือเมาส์ ไม่ถูกที่ แล้วตำแหน่งไหนถึงจะถูกที่กันนะ วันนี้มาดูเลย!

ตำแหน่งในการจัดวางแป้นพิมพ์และเมาส์ที่เหมาะสม
1. ความสูงของที่วางแป้นพิมพ์และเมาส์ ควรอยู่ ที่ระดับพอดีกับมือเมื่องอศอก 90 องศา หรือสูงกว่าเล็กน้อย (โดยที่เมื่อวางมือแล้วไม่มีแรงกดระหว่างข้อมือ และแป้นพิมพ์ หรือขอบโต๊ะ) โดยที่แขนส่วนบนไม่เหยียด ออก (วางตามแนวลำตัว) แขนส่วนล่างขนานกับพื้น ไหล่ไม่เกร็งและไม่ยกข้อมือไม่งอหรือกระดก แป้นพิมพ์และเมาส์ที่ต่ำเกินอาจทำให้ต้องก้มคอมากเพื่อมองแป้นพิมพ์ ส่วนแป้นพิมพ์และเมาส์ที่สูง อาจทำให้ไหล่ต้องยกกล้ามเนื้อไหล่เกร็งตัว และข้อมือมีแนวโน้มกดทับกับแป้นพิมพ์หรือโต๊ะได้
2. หากมีโต๊ะและเก้าอี้อยู่แล้ว ความสูงของแป้นพิมพ์และเมาส์ที่ควรเป็นคือระดับตามความสูงของโต๊ะที่มีอยู่ เพราะโต๊ะส่วนมากไม่สามารถปรับความสูงได้ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องจัดความสูงเก้าอี้ เพื่อให้มืออยู่ในระดับที่เหมาะสมตามข้อ 1 ดังนั้นเมื่อปรับเก้าอี้อาจจำเป็นต้องมีที่พักเท้าเพื่อไม่ให้ขาห้อย จนทำให้มีการกดทับหลอดเลือดใต้ต่อเข่า แต่ถ้านั่งแล้วเข่าชันแสดงว่า โต๊ะอาจเตี้ยไป จำเป็นต้องหนุนโต๊ะให้สูงขึ้น
3. แป้นพิมพ์ต้องวางตรงด้านหน้า วางใกล้กับลำตัวผู้ใช้ให้มากที่สุด และต้องไม่ห่างไปจากแนวกลางไปทางด้านข้างมากนัก เพราะจะมีผลต่อการวางมือ และทำให้ต้องเอื้อม แขนต้องเหยียดยื่นออก ไหล่ก็จะเกร็งตัวมากขึ้น หรือผู้ใช้อาจใช้วิธีโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้ตัวเข้าใกล้แป้นพิมพ์และเมาส์มากขึ้น ซึ่งส่งผลคือกล้ามเนื้อหลังและคอทำงานมากขึ้น และแรงกดต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง สำหรับโรคปวดหลัง
4. ตำแหน่งของแป้นพิมพ์และเมาส์ ควรอยู่ในระดับเดียวกัน บางกรณี โต๊ะคอมพิวเตอร์มีลิ้นชักสำหรับวางแป้นพิมพ์ แต่ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับวางเมาส์ ผลคือเมาส์ต้องถูกนำมาวางไว้บนโต๊ะ ทำให้เวลาทำงานต้องมีการยกแขนขึ้นลงสลับกันตลอดเวลา เมื่อมีการใช้งานสลับกันระหว่างแป้นพิมพ์และเมาส์
5. เมื่อตำแหน่งแป้นพิมพ์และเมาส์พอเหมาะแล้ว ให้สังเกตว่า ศอกได้รับการพยุงจากที่พักแขนของเก้าอี้หรือไม่ หากมีการพยุงที่ดีจะส่งผลให้กล้ามเนื้อ บ่าและไหล่ทำงานลดลง ทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวไม่เมื่อยล้าหรือเมื่อยน้อยลง อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดวางที่ดีแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าผู้ใช้บางท่านอาจยังคงมีอาการปวดเมื่อยที่บ่า ทั้งนี้ให้ลองสังเกตว่า ตนเองเป็นผู้ที่เคร่งเครียดกับงานจนทำให้เกิดการเกร็งตัวของไหล่ และการโน้มตัวไปข้างหน้าหรือไม่ โดยสังเกตว่าไหล่ของท่านยกและลอยตัวจากที่พักแขนหรือไม่ พนักพิงยังคงติดอยู่กับหลังของท่านหรือไม่ (กรณีของพนักพิงที่เอียงไปด้านหลังมาก จะเหมาะ สำหรับให้เอนหลังพักหลังเมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง จึงเป็นไปได้ว่าหลังจะไม่ติดอยู่กับพนักพิงตลอดเวลา หากเป็นเช่นนั้น ให้ดูว่าหลังโค้งและโน้มไปด้านหน้าหรือไม่
ลักษณะการวางมือที่ถูกต้อง
ถึงแม้จะมีการจัดวางแป้นพิมพ์ที่ดีก็ตาม หากวางมือและใช้งานไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อข้อมือได้
- ข้อมือต้องไม่กระดกขึ้นหรืองอลง นั้นคือข้อมือ ควรอยู่ในแนวตรง โดยให้ลองสังเกตว่า ถ้าวางแขนราบคว่ำไปบนโต๊ะ ข้อมือจะกระดกขึ้นเล็กน้อย และปลายนิ้ว ทั้ง 5 นิ้วจะวางบนโต๊ะด้วย ซึ่งมุมข้อมือนั้นคือมุมปกติของข้อมือที่ควรจะเป็นเมื่อมีการใช้งานกับแป้นพิมพ์และเมาส์ สำหรับแป้นพิมพ์บางแป้นจะมีขาหนุนด้านหลังให้สูงขึ้น การหนุนให้แป้นสูงขึ้นนั้นไม่มีความจำเป็น ยกเว้นกรณีที่ปรับให้แป้นพิมพ์วางอยู่สูงกว่าข้อศอกมากๆ ทำให้การเอียงตัวของแป้นอยู่ในแนวระนาบของข้อมือพอดี
- ขณะเดียวกันข้อมือต้องไม่เอียงออกด้านข้าง หรือเอียงเข้าด้านใน มือที่เอียงไปถือว่าเป็นมุมที่ไม่ปกติอาจทำให้เอ็นข้อมือข้างใดข้างหนึ่งยืดมากกว่าเป็นเวลานาน ทำให้เกิดเอ็นอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการวางพักข้อมือ ในขณะทำงานด้วย การวางข้อมือบนขอบหรือพื้นโต๊ะที่แข็ง เพราะทำให้มีการกดทับที่ข้อมือซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาของข้อมือดังที่ได้กล่าวมา
แหล่งที่มา สสส
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY