ม.ทักษิณ จับมือ พว. – เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2564 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เพื่อร่วมกันนำแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning –GPAS 5 steps ไปขยายผลในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ให้กับโรงเรียนทุกระดับทุกสังกัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนทั้งครูและผู้เรียน เป็นการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างนวัตกรรรมในอนาคต
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า คณะศึกษาศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นเราจึงอยากได้ครูที่ออกไปทำหน้าที่สอนหนังสือหรือจัดการเรียนรู้ ที่สามารถตอบโจทย์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็หมายความว่าเป็นครูที่สามารถจัดการเรียนรู้แล้วทำให้เด็กที่ผ่านการเรียนรู้จากครูมีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เขาสามารถแก้ปัญหาสามารถคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ มีชีวิตและปรับตัวอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน และที่สำคัญ คือการผลิตครูที่มีคุณธรรมจริยธรรม ควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถทางด้านการจัดการเรียนการสอนด้วย
“จริงๆ แล้ว คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เราได้เรียนรู้การเรียนการสอนแบบ Active Learning –GPAS 5 steps อยู่แล้ว และบังเอิญว่าเป้าหมายของ พว.กับเป้าหมายของคณะศึกษาศาสตร์มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการที่จะให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสมรรถนะ ซึ่งประกอบด้วย ความรู้ การมีทักษะ และมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการจัดการเรียนรู้ เรื่อง Active Learning ถ้านำไปใช้แล้วจะทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่เป็นโลกยุคใหม่ได้จริงๆและเขาสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นมาได้ และตอนนี้เราก็มีพลังของ พว.ไปช่วย ซึ่ง ม.ทักษิณก็จะสามารถขยายผลด้านปริมาณและคุณภาพได้มากขึ้น จะทำให้สามารถทำได้เร็วได้กว่าเดิมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ” คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณกล่าว

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล วุฒิสภา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ก็มีทิศทางไปในทางเดียวกันว่า เราจะเอาคุณภาพเด็กเป็นที่ตั้ง และให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยได้วางศักยภาพของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับอาชีวะศึกษา ว่าจะต้องเติมเต็มอะไรบ้าง อะไรยังขาดอยู่ ซึ่งจะต้องนำแนวทางเหล่านี้ไปออกแบบในเรื่องของหลักสูตรในการผลิตครูซึ่งจากงานวิจัยที่ พว.ได้วิจัยไว้ มีความเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ทุกคนและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นนวัตกรรมที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันตามวุฒิภาวะและวัยของเด็ก ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบหรือที่เรียกว่า GPAS 5 steps ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงค่อนข้างมีความชัดเจนมาก และจากการที่ พว.ลงไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนก็ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย เป็นอย่างดี ซึ่งบังเอิญเป็นความโชคดีที่ทาง พว.ได้พัฒนาตรงนี้มานานร่วมหลาย 10 ปีแล้วก็เลยทำให้มีเครื่องมือที่จะช่วยครูในการวัดคุณภาพ และประเมินผลในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุมและครบถ้วนเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรที่อิงมาตรฐานสากลกำหนดไว้ เพราะเราได้เตรียมการเรื่องเหล่านี้มาล่วงหน้าพอสมควรแล้ว ซึ่งครูสามารถนำไปใช้ได้เลย อย่างน้อยก็สามารถลดภาระครูได้มาก แค่ขยับในเรื่องของการช่วยสร้างความเข้าใจให้ครูว่ารูปแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning มีความหมายอย่างไรต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดศักยภาพตามที่หลักสูตรกำหนด และเชื่อว่าหากทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ จะสามารถพลิกโฉมการศึกษาไทยได้ภายใน 4-5 ปีนี้แน่นอน

เพราะ ศ.กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดภาพความสำเร็จไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า เด็กไทยสามารถที่จะนำเอาความรู้ไปยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ไม่ใช่เรียนหนังสือเพื่อให้ได้คะแนน แต่เรียนหนังสือเพื่อให้เกิดคุณค่าต่อการนำความรู้ไปใช้กับชีวิตจริง ครอบครัว อาชีพ สังคม และประเทศชาติ ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ ตรงกับเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงไป
อ่านข่าว