สถิติอุบัติเหตุสะท้อนปัญหา! ใบขับขี่ตลอดชีพ ในผู้สูงอายุ

จากข่าวกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดจะเรียกผู้ที่มี ใบขับขี่ตลอดชีพ ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลับมาทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับรถอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามตามมาจากผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

ใบขับขี่ตลอดชีพมีที่มาอย่างไร

การออกใบอนุญาตขับขี่ เดิมเคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทะเบียน กรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) การอนุญาตและการจัดเก็บข้อมูล ยังเป็นรูปแบบทะเบียนกระดาษ ทำให้การออกใบขับขี่จำเป็นต้องมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพเพื่อเป็นการลดปริมาณงานการติดต่อราชการของประชาชน หลังจากนั้นในปี 2531 อำนาจหน้าที่การออกใบอนุญาตขับขี่ ถูกโอนย้ายมายังกรมการขนส่งทางบก และเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตขับขี่ดังเช่นปัจจุบัน

ประเทศไทยจะอยู่กับใบขับขี่ตลอดชีพไปอีกนานแค่ไหน

ในปี 2546 มีการยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ โดยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงอายุใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพที่ได้ทำไปก่อนแล้ว และกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเพียงว่าใบอนุญาตขับรถยนต์ที่ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตหรือใบอนุญาตขับรถยนต์ จึงมีผลทำให้ใบขับขี่ตลอดชีพยังใช้ต่อไปได้ ซึ่งหากคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าใบขับขี่ตลอดชีพจะหมดไปเมื่อใด อาจตั้งสมมติฐานว่าผู้มีสิทธิได้สามารถขอรับใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุน้อยที่สุดในปี 2546 คือ 19 ปี เท่ากับว่าปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 36 ปี ดังนั้น ใบขับขี่ตลอดชีพจะยังอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 35-40 ปี

นศ.กว่าร้อย!แจ้งความ DSI วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท หลอกสมัครเรียน

เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพสะสมจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ประมาณ 12 ล้านใบ แบ่งเป็นใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 6,176,081 ใบ ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ตลอดชีพ จำนวน 5,966,176 ใบ และใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 4,608 ใบ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจำนวนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545–2562 เห็นได้ว่ามีแนวโน้นเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2547 จึงเกิดคำถามว่าข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้มีการปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ และจำนวนที่แท้จริงของใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเท่าใด การที่กรมการขนส่งทางบกสามารถจัดเก็บข้อมูลที่มีความถูกต้องจะช่วยให้ทราบถึงขนาดปัญหาที่จริงของใบขับขี่ตลอดชีพ และสามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

ประเด็นต่อมาคือ อายุส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรจำแนกตามกลุ่มอายุของปี พ.ศ. 2558-2562 จากข้อมูล 3 ฐาน โดยกรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงที่สุดในช่วงอายุ 15-19 ปี และ 20 – 24 ปี และจะลดลงเมื่ออยู่ในช่วง อายุระหว่าง 25 – 50 ปี แต่เมื่อมีอายุในช่วง 50-79 ปี กลับพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนถึงอายุ 80 ปี ที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดอีกครั้ง ข้อมูลจากกราฟแม้จะไม่ได้สะท้อนถึงสาเหตุในเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงไม่ได้ระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถยนต์หรือไม่ แต่สามารถอนุมานได้ว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ครั้งแรก! ธอส.เปิด สินเชื่อบ้านทูเจน ผ่อน 70 ปี ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ จากงานศึกษา“โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สภาวะในมิติทางการแพทย์ที่อาจส่งผลต่อสมรรถนะร่างกายเพื่อการขับขี่ (Medical conditions likely to affect fitness to drive) หรือมีผลต่อกระบวนการของร่างกายที่ต้องทำงานประสานกันเพื่อการขับขี่ปลอดภัย เกิดจากปัจจัยบางประการที่เป็นสาเหตุความบกพร่องขั้นรุนแรง เช่น การหมดสติอย่างฉับพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น

ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดสภาวะดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ การมีใบขับขี่ตลอดชีพจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการขับขี่บนท้องถนน หากผู้ขับขี่มีสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
การศึกษามาตรการด้านการตรวจสุขภาพในการออกใบอนุญาตขับขี่ของต่างประเทศ

สำหรับแนวทางการป้องกันในเรื่องสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในต่างประเทศ เมื่อพิจารณากระบวนการออกใบขับขี่ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่าภายหลังการทดสอบด้านสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในตอนขอใบขับขี่ครั้งแรก ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้ง (Retest) เมื่อผู้ขับขี่มีอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด

ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละประเทศ เช่น สวีเดนจะกำหนดอายุที่ 45 ปี หลังจากนั้นต้องตรวจสอบสมรรถภาพทางกายในทุก 10 ปี ฝรั่งเศสกำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่ 60 ปี และต้องตรวจสอบหลังจากนั้นในทุก 2-5 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางประเทศยังกำหนดในกฎหมายให้ผู้ขับขี่ที่พบว่าตนเอง เจ็บป่วยเป็นโรคที่ต้องห้ามในการขับขี่ มีหน้าที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

ฝืนไม่ไหว! นิสสัน เลิกผลิตรถยนต์ 3 รุ่นในไทยตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้

ขณะที่กรณีของออสเตรเลีย แม้รัฐจะไม่ได้กำหนดอายุสูงสุดในการขอรับใบขับขี่ไว้ แต่มีมาตรการควบคุมดูแลผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป โดยกระทรวงคมนาคมจะส่งจดหมายแจ้งให้ทราบถึงวิธีการและขั้นตอนในการขอใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบว่ามีอาการหรือมีความผิดปกติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดหรือไม่ และออกเป็นใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะขับขี่รถ (Fit to Drive) ให้ โดยใบรับรองแพทย์จะมีอายุสูงสุด 13 เดือน ซึ่งหากใครที่แพทย์ประเมินว่าไม่สามารถขับขี่รถได้และฝ่าฝืนจะมีโทษปรับถึง 2,400 ดอลล่าร์ออสเตรเลียหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 75,000 บาท

วิเคราะห์ผลได้ผลเสียของใบขับขี่ตลอดชีพเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

ในขณะนี้โจทย์สำคัญประการหนึ่งที่กรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนคือ จำนวนของผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ และปัญหาการมีใบขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบัน เพื่อให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม จึงควรดำเนินการทบทวนข้อมูลจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่จริง โดยอาจดำเนินการเชื่อมข้อมูลทางทะเบียนราษฎรกับกรมการปกครองเพื่อตรวจสอบสถานะทางทะเบียนของผู้มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบันว่าคงเหลือเพียงใด หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนใบขับขี่ตลอดชีพมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรผู้ถือใบขับขี่และการเกิดอุบัติเหตุ

ย่อมแสดงให้เห็นว่าใบขับขี่ตลอดชีพไม่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการทบทวนหรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเพียงแต่รอให้ใบอนุญาตเหล่านั้นหมดอายุไป

แต่ในทางกลับกัน หากผลเปลี่ยนไปและแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนในสังคม ก็มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของปัจเจกบุคคล โดยควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ดังนั้น หากรัฐมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือยกเลิกเรื่องใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดเกณฑ์อายุที่จะยกเลิกใบอนุญาตขับขี่และให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่กลับมาตรวจสอบสมรรถภาพในการขับขี่หากยังต้องการขับขี่รถอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่แบบใหม่ที่ประเภทใบอนุญาตจากตลอดชีพเป็นเป็นชนิด 5 ปีที่มีในปัจจุบันแทน

ซึ่งเรื่องเกณฑ์อายุควรกำหนดให้เป็นช่วงอายุ 60 – 70 ปี ส่วนหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนในการตรวจสอบสมรรถภาพควรกำหนดไว้ในระเบียบหรือกฎกระทรวงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในเรื่องนี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหม่และยังเป็นประเด็นที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาทุกครั้งที่มีกระแสข่าว

แต่หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการลดอุบัติเหตุในการขับขี่ของผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติได้ว่า สังคม Baby Booming ของประเทศไทยมีศักยภาพด้านการขับขี่ปลอดภัยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เรื่องโดย
ณภัทร ภัทรพิศาล
ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์
TDRI

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

เสรีพิศุทธ์ เปิดหนังสือ หมายจับ ‘สนธิญา’ หลังพบมีพฤติการณ์หลบหนี

“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” เผยเอกสาร ศาลออกหมายจับ “สนธิญา” เหตุทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล มีพฤติการณ์หลบหนี เลื่อนอ่านคำพิพากษาไป 27 พ.ค. 67

RM วง BTS ประกาศเปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 2 เต็มไปด้วยสีสันรับหน้าร้อน

RM วง BTS เซอร์ไพร์สหนักเปิดตัวอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 2 ‘Right Place, Wong Person’ ที่เต็มไปด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง

หนุ่มประชดชีวิต กระโดดตึกชั้น 8 ดับคาที่ น้อยใจไม่อยากไปอยู่เมืองนอก

ตัดปัญหาชีวิต!? หนุ่มลูกครึ่งวัย 19 ไม่อยากไปอยู่กับพ่อที่อเมริกา ก่อนประชดแม่ ดิ่งตึก 8 ชั้น ย่านพัทยา ดับคาที่

เช็กดวงรายวัน ประจำวันศุกร์ ที่ 26 เมษายน 2567

ดูดวงรายวัน ดวงวันนี้ 26 เมษายน 2567 ดวงประจำวันเกิด ฤกษ์ดี สีมงคล โดย อาจารย์ อรุณวิชญ์ วงศ์จตุพัฒน์ ผ่านแฟนเพจ มหามงคล.คอม
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า