ช่วงนี้ใครกำลังรู้สึกเครียด ไม่สบายใจ หรือกังวลใจอยู่บ้าง ลองมาเช็กให้ชัวร์ดีกว่าว่าคุณมีแนวโน้มที่เสี่ยงจะเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ ?
ในชีวิตประจำวันจะมีความวิตกกังวลที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าอาการเหล่านี้มีมากเกินไปจนรู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวันของเรา ก็อาจจะเข้าข่ายการเป็นโรควิตกกังวลได้ จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ใช่พฤติกรรมหรือการกระทำที่ควรชิน เพราะถ้าหากปล่อยไปอาจทำให้เราเป็นมากกว่าเดิมก็ได้ สำหรับวิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คือการเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่าการไปพบจิตแพทย์เนี่ย ไม่ได้แปลว่าเราผิดปกติเสมอไป ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ารังเกียจเลยสักนิด ส่วนวิธีรักษาลำดับถัดไปต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ตามโรคของแต่ละคนค่ะ
โรควิตกกังวลจัดเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง สาเหตุของการเกิดอาการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม เช่น พ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรควิตกกังวล หรือมีพื้นฐานในการไม่กล้าแสดงออกทางอารมณ์, สภาพแวดล้อม, การเลี้ยงดู รวมไปถึงการเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด และการประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรควิตกกังวล โดยอาการเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องโตก่อนหรือว่าเป็นคนทำงานแล้ว โรควิตกกังวลนี้อาจจะเกิดกับเด็กทั่วไปก็ได้เช่นกัน
ลองมาดูกันดีกว่า ว่าโรควิตกกังวลชนิดไหน อาการไหน ที่กำลังส่งสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นอยู่ มาเช็คดูว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder, CAD ) คือ การมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไปนาน ๆ และมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียดและความวิตกกังวลที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ ปัญหาการนอนหลับ
- โรคแพนิค (Panic Disorder, PD ) คือ การที่อยู่ดี ๆ ก็เกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพัก ๆ โดยไม่มีสาเหตุหรือมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย อาการของแพนิคไม่ใช่เป็นโรคร้ายแรงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก ดังนั้นผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองกำลังหัวใจวายหรือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
- โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) คือ การกลัวมากเกินไปเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์บางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง แม้ความกลัวนั้นจะไม่มีเหตุผลก็ตาม เช่น กลัวเลือด กลัวสุนัข กลัวที่แคบ กลัวลิฟท์ หรือกลัวการขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำ ๆ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความวิตกกังวลนั้นให้หายไป ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำอาจรู้ตัวดีว่าพฤติกรรมของตัวเองนั้นไม่มีเหตุผล แถมยังทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูก็จะคอยตรวจซ้ำ ๆ ว่าล็อคประตูหรือยัง
- โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) หรือ โรคป่วยทางใจ คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น อาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว กังวลในเรื่องเล็กน้อย คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ และเกิดความกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาใหม่เหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงหวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
อาจดูเหมือนโรคนี้น่ากลัว แต่คุณป้องกันได้ง่ายๆ แค่ใช้ชีวิตอย่างมีสุข กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรฝึกสติเพื่อรู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่าความเครียดว่ามีมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบอยู่กับปัจจุบันและผ่อนคลาย รับรองสุขภาพดีทั้งกายใจห่างไกลโรคอย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก bumrungrad.com
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบ ‘การผ่าตัดหัวใจ’ ใน ‘ช่วงบ่าย’ ได้ผลดีกว่าช่วงเช้า